รองนายกวิษณุ คุณหญิงกัลยา เปิดงาน “จากศาสตร์พระราชา ผสานศาสตร์สากล สู่การพัฒนาชีวิตยั่งยืน” พร้อมลงนามความร่วมมือ กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา และม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


(๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓)-รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และคุณหญิงกัลยา รมช.ศึกษาธิการ เปิดงาน “จากศาสตร์พระราชา ผสานศาสตร์สากล สู่การพัฒนาชีวิตยั่งยืน” กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิงกัลยา ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (AGS) และลงนามกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยกระดับสู่การบริหารจัดการน้ำสากล


ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งของนโยบายในการบริหารจัดการน้ำคือ การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการนำศาสตร์ของพระราชา (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการที่จริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้นมั่นใจว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ได้รับการผลักดันและมุ่งมั่น ที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริงของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และการสนับสนุนจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่มีคุณโชติ โสภณพนิช เป็นประธาน รวมไปถึงได้รับความร่วมมือจากองค์กรและหน่วยงาน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำในระดับสากล จะสร้างความยั่งยืนและความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ในการช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้มีน้ำใช้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน จึงได้จัดให้มีการจัดทำหลักสูตร “ชลกร” พร้อมศูนย์เรียนรู้ภายในวิทยาลัยเกษตรฯ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับชลกร เพื่อสร้างครูอาชีวเกษตรและแกนนำนักศึกษาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำสำหรับชุมชนต่อไปในอนาคต นำองค์ความรู้มาแนะนำคนในชุมชน ช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อเองได้อย่างถูกต้องและขยายผลต่อไปได้
ปัจจุบันนี้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้รับความสนใจ และได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงจิตอาสาอีกหลายท่านที่มาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมใจกันถวายเป็นพระราชกุศล อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงในวันนี้ (๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) กระทรวงศึกษาธิการ โดยดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และให้คำแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับสากล พร้อมกับลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ จะยังเดินหน้าลงพื้นที่ศึกษา สำรวจ และให้ข้อมูลตามแผนการขยายผลโครงการบริหารจัดการน้ำฯ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง ๓ ภูมิภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พร้อมกับการสร้างหลักสูตรชลกร ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อถ่ายทอดหลักสูตรบริหารจัดการน้ำ มุ่งขยายผลสู่ชุมชน เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จนอย่างยั่งยืน


นอกจากนี้จะมีการขยายผลเพิ่มเติม โดยมีแผนที่จะพัฒนายกระดับองค์ความรู้เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินในประเทศไทยให้เข้าสู่หลักสากล ให้สอดคล้องกับหลักการด้านวิศวกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีการสร้างหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชน โดยมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างเครือยข่ายของ AGS เช่น MWRD (Metropolitan Water Reclamation District of Greater Chicago), WWM (water and waste management India) เพื่อให้เทคนิคการจัดการน้ำสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงและง่ายต่อการเข้าใจและดำเนินการต่อชาวบ้าน และผู้สนใจ จึงนับเป็นความสำเร็จไปอีกขั้นในการเชื่อมโยงนำองค์ความรู้ที่เป็นสากลมาปรับใช้กับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับคนในพื้นที่ชุมชน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *