สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุน แก่นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ ดำเนินโครงการการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสู่ระบบฟาร์มเพาะเห็ดอัจฉริยะ (KM เครือข่าย) ช่วยวิสาหกิจชุมชนบ้านปลายละหาน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพาะเห็ดนางฟ้า ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (IoT) จัดการฟาร์มและผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
จากเดิม กลุ่มผู้เพาะเห็ดนางฟ้า ใช้วิธีการดูแลและจัดการฟาร์มแบบดั้งเดิม ด้วยการคาดคะเนและใช้ความชำนาญในการสังเกตและสัมผัสถึงความชื้นในอากาศและในตัวเห็ด หากต้องการเพิ่มความชื้นก็จะใช้สายยางในการฉีด โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ที่เห็ดขาดสมดุลความชื้นมากกว่าฤดูฝน ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้น สิ้นเปลืองแรงงานและเวลา จนอาจทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิชาการมาช่วยสนับสนุน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา นวนสร้อย แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ได้ถ่ายทอดและติดตั้งเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำ คือ ระบบฟาร์มเพาะเห็ดอัจริยะ หรือ สมาร์ทฟาร์ม ให้กับกลุ่มผู้เพาะเห็ดชุมชนบ้านปลายละหาน และกลุ่มเครือข่ายอื่นที่สนใจ โดยทดลองกับการเพาะเห็ดนางฟ้าก่อน ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบโจทย์การลดใช้แรงงาน อำนวยความสะดวกในการควบคุมดูแลเห็ด และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
เริ่มต้นจากการออกแบบโรงเรือนเพาะเห็ด ให้มีความสอดคล้องกับระบบที่จะติดตั้งพัฒนาแอพพลิเคชัน หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อใช้ควบคุมการทำงาน ใน 2 โหมด
คือ โหมดสั่งการโดยผู้ใช้งาน และแบบอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดระบบไฟฟ้าระบบพ่นหมอก
ระบบสปริงเกอร์หลังคา ระบบพัดลม และระบบรดน้ำบนพื้น ภายในโรงเรือนเพาะเห็ดโดยมีเซนเซอร์คอยวัดอุณหภูมิความชื้น ก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ และความเข้มแสงพร้อมทั้งนำเสนอเป็นกราฟข้อมูลในการควบคุม ดูการทำงาน และวิเคราะห์สภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ด ซึ่งระบบจะบ่งบอกช่วงเวลาการเก็บเห็ด การพ่นหมอก และการให้น้ำบนพื้นได้ ผู้ใช้งานสามารถดูการทำงานต่าง ๆ ได้ ผ่านการแจ้งเตือนบนแอพพลิเคชัน LINE ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง
“อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ ยังคงต้องพัฒนาทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง โดยขณะนี้ได้พยายามต่อยอดกับการทดลองเพาะเห็ดหลินจือ การเพิ่มกล้องวงจรปิด และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เทคโนโลยี โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการติดตั้งและการใช้งาน มีเสถียรภาพสูงสุด และเกิดปัญหาน้อยที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อม ในการช่วยพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน อันเป็นฐานรากแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน