ปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมที่หลายประเทศเผชิญ คือ ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ที่นำไปสู่ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่นปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม,ปัญหาการเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเรือนจำ เมื่อมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เพราะเรือนจำส่วนใหญ่เป็นสถานที่แออัด มีจำนวนนักโทษสูงกว่าศักยภาพในการรองรับของเรือนจำมาก เห็นได้จากข้อมูลในรายงาน Global Prison Trends 2021 ที่จัดทำโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ Penal Reform International (PRI) ระบุว่าปัจจุบันกว่า 118 ประเทศประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และในบางประเทศมีผู้ต้องขังเกินอัตราความจุเรือนจำถึง 450-600% และพบผู้ต้องขังติดเชื้อมากกว่า 530,000 คนทั่วโลก
การพัฒนากระบวนการยุติธรรมจะดูเหมือนเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ในกรอบระหว่างประเทศจึงได้มีกลไกทำหน้าที่ที่ช่วยส่งเสริมมาตรฐานสากลนั่นคือ คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ CCPCJ เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) ของสหประชาชาติ (United Nation) จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1992 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ นี้จะมีการจัดประชุมทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูล เพื่อพัฒนากลยุทธ์ระดับชาติและระดับสากล นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมรวมถึงการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการเสนอร่างมติ (Resolution)