ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ เผยการศึกษาสารโรโดไมรโทนจากใบกระทุ (วงศ์ชมพู่) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่เพื่อรองรับปัญหาเชื้อดื้อยา และการใช้เทคโนโลยีต่อยอดเป็นนวัตกรรมสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จัดเป็นปัญหาวิกฤตระดับชาติและระดับโลกที่ควรตระหนัก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี และเชื้อแบคทีเรียยังคงพัฒนาความสามารถในการต่อสู้กับยาปฏิชีวนะได้รุนแรงมากขึ้น ยาที่เคยใช้อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป อีกทั้งอุตสาหกรรมยาทั่วโลกยังขาดการวิจัยในการคิดค้นพัฒนายาชนิดใหม่ขึ้น เพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้อย่างทันท่วงที ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์แผนปัจจุบัน และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่นี้ แยกได้จากสารธรรมชาติ เป็นการวิจัยเชิงบูรณาการโดยการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับเภสัชกร สัตวแพทย์ แพทย์ และภาคเอกชนทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่มีสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรรวมกว่า 18 รายการได้เผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ในระดับนานาชาติกว่า 60 รายการ และเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีผลงานวิจัยรองรับในภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการใช้ยาปฏิชีวนะทางเคมี และช่วยในการส่งเสริมสุขภาพของคนและสัตว์ อีกทั้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศ สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านปริมาณวัตถุดิบใบกระทุที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรม จึงได้มีการศึกษาพืชชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน โดยใช้ใบยูคาลิปตัสที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมกระดาษ ในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นอนุสิทธิบัตรไทย “สูตรองค์ประกอบของซิลเวอร์นาโนที่สังเคราะห์โดยใช้กรรมวิธีการสกัดสารจากพืชวงศ์ชมพู่เป็นสารต้านจุลินทรีย์” เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อีกจำนวนมาก อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบสารโรโดไมโทนที่สูงมาก จึงได้พัฒนาวิธีการสกัดสารกึ่งบริสุทธิ์จากใบกระทุ ที่มีฤทธิ์ดีและมีต้นทุนเป็นที่น่าพอใจของภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นอนุสิทธิบัตรอีกผลงานหนึ่ง
นับว่าเป็นการต่อยอดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในหลายรูปแบบพร้อมทั้งสร้างและผลักดันนักวิจัยที่มีความเป็นมืออาชีพ ให้เป็นประชาคมวิจัยที่มีความเข็มแข็ง สร้างรายได้และอาชีพให้วิสาหกิจชุมชนบ้านนก อ. ระโนด จ.สงขลา โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกต้นกระทุที่ได้มาตรฐาน GAP ในการเตรียมวัตถุดิบใบกระทุสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การวางนโยบาย เพื่อผลักดันผลงานวิจัยยาใหม่ในการรองรับการใช้งานจากปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นวิกฤตของโลกต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ