วันนี้(14 ต.ค.) ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีลงนามสมาพันธ์พันธมิตรปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National AI Consortium) ภายหลังได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุน ด้านการพัฒนากําลังคน การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)”โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมในพิธี
การลงนามครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ในปี 2564 นี้ เป็นโครงการปีที่ 2 (Season 2) ต่อจากโครงการปีที่ 1 ปี 2563 (Season 1) ที่มีผู้ผ่านการประเมินความสามารถหลังอบรม ได้มาเป็นกลุ่มที่ได้เหรียญทอง จำนวน 8 คน กลุ่มที่ได้เหรียญเงินจำนวน 19 คน และกลุ่มที่ได้เหรียญทองแดงจำนวน 45 คน โครงการปีที่ 2 นี้ก็เช่นเดียวกัน ทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสถาบันการศึกษาได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกสมาคมจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนไม่น้อยกว่า 40 แห่งเพื่อดำเนินพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจุบันทางกลุ่มผู้พัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์และพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ จัดตั้งภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai Artificial Intelligence Consortium) ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในปีนี้ ได้มีเป้าหมายเบื้องต้นให้มีพิธีลงนามสมาพันธ์ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AI Thailand Consortium) ระหว่างองค์กรเริ่มต้น 5 องค์กรคือ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA), สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศไทย (CITT) และ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT)
ทั้งนี้จะมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ให้มีส่วนร่วมกันพัฒนาและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในประเทศไทย ประกอบด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพัฒนาบุคลากร ด้านทรัพยากรการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ ด้านบริหารจัดการองค์ความรู้และความสามารถในการรวมระบบงานและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านต่างๆ ในหลายมิติ ทั้งในภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเครือข่าย
โดยเฉพาะการจัดทำแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Platform) ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับใช้งานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนขึ้น ซึ่งนำมาสู่การสร้างอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย เครือข่ายภาคีนี้จะเป็นองค์กรที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยน ความรู้ ทรัพยากร และการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกัน ด้วยระบบสังคมดิจิทัล (Digital Economy) บนฐานของโครงการที่มีคุณภาพระดับสากล และมีโอกาสขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่สามารถพัฒนาคนให้มีทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น