ผช.รมว.แรงงาน มอบนโยบายอาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี 280 คน ร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน ณ ศาลากลางจังหวัดชลบุรี 

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายแก่อาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อต้นปี 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบกิจการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ต้องถูกรัฐสั่งปิดการให้บริการ รวมไปถึงสถานประกอบกิจการรายเล็กที่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวทำให้ต้องปิดกิจการลงในที่สุด ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากฐานข้อมูลของจังหวัดชลบุรี พบว่า มีสถานประกอบกิจการปิดกิจการชั่วคราวจำนวน 562 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ จำนวน 159,644 คน สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่กิจการประเภทการผลิต 140 แห่ง การขายส่งขายปลีก 165 แห่ง ที่พักและบริการด้านอาหาร 62 แห่ง ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 1.33 แสนราย คิดเป็นเงิน1,527 ล้านบาท และได้มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด 19 ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 171,153 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงแรงงาน โดยท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1.ยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ 2.กระตุ้นการจ้างงานตามความต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ 4.เร่งรัด ปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและ 5.ดูแลให้แรงงานและนายจ้างสามารถทำงาน ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและเป็นปกติสุข และนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศและรองรับเศรษฐกิจใหม่ 2.บริหารจัดการแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.ต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ และเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4.ยกระดับการป้องกันแก้ไขปัญหาหารค้ามนุษย์ด้านแรงงานเพื่อปลดล็อค Tier 2 Watch List 5.พัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการ และหลักประกันทางสังคม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย ในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป6.บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ แรงงานกลุ่มเปราะบาง แรงงานสูงอายุและคนพิการให้ได้รับสิทธิและคุ้มครองด้านแรงงาน สวัสดิการและหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียม มีรายได้ที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศ นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และ 7.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานกระทรวงแรงงาน (Big Data) และบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการบริหาร วางยุทธศาสตร์ด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคมอย่างเป็นระบบ

อาสาสมัครแรงงาน คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ได้แก่ 1.กระตุ้น ส่งเสริม รักษาการจ้างงาน และการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ ได้แก่ การประกอบอาชีพอิสระการรับงานไปทำที่บ้านให้แก่ผู้ว่างงานและผู้จบการศึกษาใหม่ 2.ส่งเสริมการจ้างงานแรงงานคนไทยและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ 3.ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงาน และสถานประกอบการโดยใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การดำเนินโครงการ Factory Sandbox 4.ยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน Up-skill Re-skill New skill โดยการอบรมให้กับแรงงานกลุ่มว่างงานให้มีความรู้เพียงพอต่อการทำงานเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ 5.พัฒนาทักษะอาชีพให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานรูปแบบแรงงานอิสระไม่ขึ้นกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง 6.ส่งเสริมอาชีพอิสระที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลักในการประกอบอาชีพ ตอบรับภาคการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและชุมชนที่ยั่งยืน 7.บูรณาการทำงาน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่แรงงาน ผู้ประกอบการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทุกมิติ และ 8.ยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืนโดยคนหางานทุกคนมีโอกาสในการทำงานตามความสามารถของตน มีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับการพัฒนาฝีมือที่ได้มาตรฐาน ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐาน มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและมีหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการการดำรงชีพ


ขอชื่นชมและให้กำลังใจอาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี ทั้ง 92 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน92 ตำบลของจังหวัดชลบุรี และมีเครือข่ายด้านแรงงาน จำนวน 188 คน รวมทั้งสิ้น 280 คน ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการให้ความช่วยเหลืองานของกระทรวงแรงงานอย่างดีเสมอมา ในการเป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ รวบรวมข้อมูลความต้องการด้านแรงงาน ส่งเสริมประชาชนในพื้นที่/ชุมชน มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านแรงงานในพื้นที่ รวมถึงขอให้ร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน นายสุรชัยฯ กล่าวในท้ายที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *