วช. หนุน วว. วิจัยพันธุ์ไม้ดอกปลอดโรค สู่งาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20”

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2565) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผลผลิตจากงานวิจัย “การพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์” ของนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้าร่วมงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเบญจมาศให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ดอกเบญจมาศ เป็นไม้ดอกที่เกษตรกรนิยมปลูกและเป็นไม้เศรษฐกิจ มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 อันดับแรกของไม้ตัดดอกมียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของเกษตรกรไทย ในการเพาะพันธุ์ไม้ดอกเบญจมาศ ที่มีการใช้ต้นพันธุ์เก่ามาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นเบญจมาศมีความอ่อนแอต่อโรคและแมลง เมื่อได้มีการปรับปรุงพันธุ์ดอกเบญจมาศให้ปลอดโรค รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พร้อมส่งต่อให้เกษตรกรนำไปทดลองปลูก พบว่า ดอกเบญจมาศมีความแข็งแรง สามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยและยา และสร้างรายได้ได้มากขึ้น 20 – 70% โดยตลาดไม้ดอกไม้ประดับ เป็นเรื่องของแฟชั่นตามยุคสมัย การปลูกไม้ดอกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภคเป็นหลัก

โดยทีมวิจัยได้นำตัวอย่างพันธุ์เบญจมาศมาวิเคราะห์หาสาเหตุตัวก่อโรคในภาคสนาม ที่แปลงปลูกและแม่พันธุ์ ก่อนตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้พันธุ์เบญจมาศที่ปราศจากเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส จากนั้นจึงทำการเพาะเลี้ยงกลีบดอกเบญจมาศในหลอดทดลอง จนกลีบดอกพัฒนาเป็นต้นอ่อน จึงทำการตรวจโรคด้วยเทคนิค RT-PCR เพื่อตั้งแม่พันธุ์ที่ปลอดโรค และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราว พร้อมทั้ง ย้ายต้นพันธุ์ และทำการอนุบาลในระบบ Clean Nursery เกิดเป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์แข็งแรง และปราศจากโรค ก่อนมอบให้กับเกษตรกรกว่า 60 ราย ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เลย อุดรธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา เพื่อทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ที่เหมาะสมกับตลาดและผู้บริโภค

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ กตกุลสัญญา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดนครราชสีมา ที่ปลูกเบญจมาศมานานกว่า 20 ปี เล่าอีกว่า แต่ก่อนเกษตรกรเราปลูกแต่เบญจมาศสายพันธุ์เดิม ๆ แต่เมื่อ วว.และ วช.ได้เข้ามาให้ความรู้และแนะนำสายพันธ์ุใหม่ ๆ ที่ปลอดโรค จนประสบผลสำเร็จ เกษตรกรจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเบญจมาศมีการปลูกหลายรุ่น จึงสร้างรายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการใช้อยู่ตลอด แต่จำนวนผู้ปลูกมีน้อย การปลูกเบญจมาศในเชิงพาณิชย์จึงสามารถเติบโตได้อีกไกล โดยสายพันธุ์ใหม่ของ วว.ที่เกษตรกรปลูกอยู่ ได้แก่ โมนา , ขาวญี่ปุ่น , คาเมล และ F44 เป็นต้น ซึ่งการเพาะเนื้อเยื่อไว้จำนวนหลายร้อยพันธ์ุของ วว. จะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเบญจมาศของไทย

ทั้งนี้ เกษตรกรกว่า 20 ราย ในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมประจำปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสลมหนาว และบรรยากาศทุ่งดอกเบญจมาศ ในงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” ระหว่างวันที่ 11 -20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่ง วว. และ วช. ภายใต้แผนโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ลิเซียนทัส เบญจมาศและไทร พ.ศ.2563-2564” ได้ให้การสนับสนุนต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคกว่า 20,000 ต้น เพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนสายพันธุ์เดิมที่อ่อนต่อโรคแก่เกษตรกร และเป็นแม่พันธุ์ใหม่ในกระบวนผลิตเป็นเบญจมาศตัดดอก โดยในปี 2566 จะขยายผลพันธุ์เบญจมาศแก่เกษตรกรเพิ่มอีก ราว 50,000ต้น รวมทั้งเตรียมคัดเลือกสายพันธ์ุที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *