วช. ร่วมกับ สวทช. ชี้แจง “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565”

วันนี้ (วันที่ 25 เมษายน 2565) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชี้แจง “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ประจำปี 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Cisco Webex โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด และกล่าวถึงเป้าหมายการสนับสนุนทุนวิจัย และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ
“บทบาทที่คาดหวังจากนักวิจัยศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ” และ ดร.สิริกัญจณ์ เนาวพันธ์ ฝ่ายบริหารโครงการความร่วมมือวิจัยขนาดใหญ่ (สวทช.) ให้ข้อมูลแนวทางการขอรับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงประจำปี 2565

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและสถาบันความรู้ ซึ่งเป็นพันธกิจและกลไกสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการสร้างความรู้จากการวิจัยในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวงวิชาการของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของไทยเข้าสู่ระบบวิจัยและนวัตกรรมส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดย วช. ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้งโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565” เพื่อส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยระดับสูง ที่ตั้งเป้าหมายท้าทายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การวางแผนและพัฒนากลไก การผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศหรือการจัดการความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ อว. โครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างโอกาส และส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มนักวิจัยไทย เพื่อผลิตผลงานวิจัย และแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติในเวทีระดับนานาชาติต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าวว่า บทบาทที่คาดหวังจากนักวิจัยศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพกลุ่มนักวิจัยและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน
ให้บรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ สร้างผลงาน
ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่สามารถแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดย ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง สนับสนุนกลุ่มวิจัยที่มีความสามารถสูง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ผลิตผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติ โดยให้การสนับสนุนไม่เกิน 3 ทุน ทุนละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 3 ปี โดยหัวหน้าโครงการจะเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ หรือ นักวิจัยที่มีประสบการณ์ มีศักยภาพเทียบเคียงได้กับนักวิจัยระดับศาสตราจารย์ หรือนักวิจัยความสามารถสูงมีผลงานโดดเด่น เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ มีประสบการณ์การทำงานซึ่งแสดงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้ง มีความสามารถในการเป็นผู้นำกลุ่มวิจัย สามารถเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ นำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดด

ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวเสริมต่อว่า การพัฒนาประเทศที่เน้นกลไก
การทำงานเชิงรุกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม บนฐานความรู้เชิงปัญญาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดดและก้าวสู่ความเป็นผู้นำในสาขาที่เป็นจุดแข็งของประเทศ การพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยกลุ่มที่จบปริญญาเอกที่อยากทำงานวิจัยต่อ
ทุนวิจัยโครงการในส่วนนี้จะมีส่วนช่วยการพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ดร.สิริกัญจณ์ เนาวพันธ์ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการขอทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ NRIIS และหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565

ทั้งนี้การเปิดรับข้อเสนอการวิจัย “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ประจำปี 2565 เปิดกว้างให้กับนักวิจัย
ทุกสาขาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพกลุ่มนักวิจัยและการใช้ประโยชน์
จากโครงสร้างพื้นฐาน ให้บรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของประเทศ สร้างผลงานด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่สามารถแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น การรองรับหรือยกระดับอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการยุคใหม่ ของประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม หรือ สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมความยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *