“คลองไทยโอกาสที่อยู่ตรงหน้าบ้าน”

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาได้ร่วมกันจัด เสวนา “คลองไทยคุ้มค่าต่อประเทศไทยหรือไม่” เพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ นักการเมือง และประชาชน เสนอแนวคิดที่หลากหลาย เพื่อช่วยกันกำหนดหัวข้อในการศึกษา และส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ โครงการคลองไทย แห่งสภาผู้แทนราษฎร นำไปพิจารณาต่อ

การเสวนาวันนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะผู้ทำการศึกษาเบื้องต้น อย่างสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา มองว่า คลองไทยเป็นเมกะโปรเจค ของชาติ ที่ผลักดันจากภาคประชาชนในภาคใต้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อน มีการศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว 3 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2559-2562 และนำเสนอแนวคิด เข้าสู่วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน และรัฐบาล ร่วมกันทำงาน 49 คน เพื่อกำหนดหัวข้อหลักในการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของโครงการอย่างรอบด้านต่อไป

นี่คือความคืบหน้า ในความปรารถนาของผู้ศึกษาที่ จะให้รัฐบาลได้ศึกษาความเป็นไปได้ว่า คลองไทยที่ถูกพูดถึงมายาวนาน “ไม่ตายและไม่เกิด” แต่ทำไมจึงไม่ได้รับการพัฒนาต่อ

โครงการคลองไทยได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยการศึกษาเบื้องต้น จากวิศวกรคลองไทย วิรวัฒน์ แก้วนพ ระบุว่า หากมีคลองไทย และพื้นที่เศรษฐกิจรอบคลอง รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเล จะทำให้ไทยมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนเบื้องต้น สำหรับการขุดคลองเส้น9A ผ่าน 5 จังหวัด กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท

วิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษา การพัฒนาเส้นทางเดินเรือและเขตเศรษฐกิจ ประเภทเดียวกันนี้ เช่นคลองปานามา คลองสุเอซ และเส้นทางช่องแคบมะละกา พบว่า ประเทศที่มีเส้นทางเดินเรือหลักของโลกมีรายได้มหาศาลทั้งนั้น เช่น

คลองปานามา
คลองที่มีลักษณะเป็นช่องล็อคเรือ โดยอาศัยสูบน้ำจากทะเลสาบเข้าช่องล็อคเรือ เพื่อยกเรือให้สูงขึ้น 28 เมตร ในปี 2018 สามารถทำรายได้ 120,000 ล้านบาทสู่ประเทศ ในปี 2557 รัฐบาลปานามาได้สร้างช่องล็อคเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับเรือขนาด 10,000 ตู้ Container นับตั้งแต่ปานามาได้รับสิทธิบริหารคลองปานามาคืนมา ปานามามี GDP โตเฉลี่ยกว่า 6 % และ GDP ต่อหัวที่สูงกว่าไทยถึงเท่าตัว

คลองสุเอช
คลองสุเอช ช่วยร่นระยะเวลาเดินเรือกว่า 9 วันไม่ต้องอ้อมผ่านตอนใต้แอฟริกา
1 ปีมีเรือผ่าน 20,000 ลำ สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 200,000 ล้านบาท
เฉลี่ยลำละ 10 ล้านบาท รายได้มหาศาลนี่เอง ทำให้อียิปต์เพิ่มลงทุนขยายปากทางออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อร่นเวลาในการผ่านคลอง และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ หัวคลอง ท้ายคลอง เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง กลายเป็นศูนย์เศรษฐกิจครบวงจร ทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้า และส่งออกสินค้า ของย่านตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียกลาง

ช่องแคบมะละกา
ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางเดินเรือสากล แต่สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นเจ้าของท่าเรือในช่องแคบแห่งนี้ ในการขนส่งสินค้า สร้างรายได้มหาศาลกับ สองประเทศนี้อย่างมาก ที่น่าสนใจคือประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่รอบทะเลด้านนี้ ทั้งอินเดีย อาเซียน และจีน ทำให้พื้นที่รอบๆบริเวณช่องแคบมะละกา เป็นแหล่งผลิต/บริโภค ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ปริมาณเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้นทุกปีโดยในแต่ละปีมีเรือกว่า 90,000 ลำ ช่องแคบมะละกาจึงกลายเป็นเส้นทางเดินเรือที่หนาแน่นและสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมากทำให้สิงคโปร์ กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก
แต่ละปีสิงคโปร์ สามารถทำรายได้กว่า 600,000 ล้านบาท
เกิดการจ้างงานกว่า 170,000 ตำแหน่ง
ดึงเงินลงทุนจากต่างชาติได้ปีละกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
เป็น ศูนย์กลางสถาบันการเงินและการประกันภัยระดับโลก อันสืบเนื่องมาจากธุรกิจท่าเรือ และการค้าทางทะเล หรือเศรษฐกิจมหาสมุทรนี่เอง

ทางด้าน ดร. สถิต ลิ่มพงศ์พันธ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “คลองไทยนำไทยสู่เศรษฐกิจโลกและและประเทศไทยอย่างไร” มีความเห็นว่า โครงการคลองไทย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีที่เห็นชัดเจนหากเกิดขึ้นจริง คือ ช่วยเสริมยุทธศาสตร์ภาครัฐ ในการผลักดันไทย ให้หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง เพราะคลองไทยอาจะเป็นเมกะโปรเจคเดียวในทศวรรษนี้ ที่มีโอกาสสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน

พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางให้ทั้ง 2 สภา นำไปเป็นหลักในการศึกษา 10 ข้อใหญ่ คือ 1)สิ่งแวดล้อม 2) สังคมวิถีชีวิตคนในพื้นที่ 3)เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง 4)การพัฒนาต้องยั่งยืน 5) ความมั่นคง 6) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 7) การจูงใจบริษัทเดินเรือโลก 8)การสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 9)ต้นทุนผลประโยชน์ 10) ผลการวิจัยโลกร้อนกระทบการเดินเรือ หากมีการศึกษาเชิงลึก ระดับเมกะโปรเจค โครงสร้างพื้นฐาน ต้องให้มีการศึกษา Feasibility Study โดยบริษัทชั้นนำของโลกต่อไป เช่น Price Water House

ขณะที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต สนับสนุน ให้ศึกษาโครงการนี้เชิงลึก เพราะเล็งเห็นประโยชน์ ในเมกะโปรโจคของชาติ ที่จะช่วยสร้างรายได้ใหม่ๆ ยกระดับรายได้ของประชาชน และสร้างงานมหาศาล โดยเสนอให้ รัฐสภาศึกษา การออกแบบการลงทุนในโครงการ เป็นสำคัญ เพราะการลงทุนโครงการขนาด 2 ล้านล้านบาท ต้องคิดให้รอบคอบในการระดมเงินทุนมาก่อสร้าง เพราะไม่ต้องการให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติใดชาติหนึ่ง ทั้งจีน สหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ลงทุนแต่เพียงลำพัง โดยเสนอให้ไทยเป็นผู้ลงทุนหลัก 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นนักลงทุนนานาชาติ ที่สนใจ เช่นจีน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งกลุ่มสายเดินเรือเอกชนทั่วโลก

ดร.อาทิตย์ ประกาศชัดว่า “คลองไทย” คือการกำหนดอนาคตโลกใหม่ ที่จะเชื่อมโลก 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน เปลี่ยนประเทศไทยสู่ประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจ และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชาติไปในทางที่ดีขึ้น และช่วยให้ไทยก้าวข้ามกับดัก ประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

ด้านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาคลองไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย มีความเห็น สนับสนุน โครงการเต็มที่ เพราะเห็นข้อดีในการสร้างรายได้ และไม่คิดว่า แนวคิดเรื่องความมั่นคงเหมือนที่เกรงกลัวในอดีต เรื่องการแบ่งแยกดินแดน จะเกิดขึ้น เพราะคลองไทยไม่ใช่การแบ่งดินแดน แต่เป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ หากมองว่า คลองจะแบ่งแผ่นดิน ถ้าเช่นนั้น เกาะแก่งทั่วประเทศ คงถูกตีความด้านความมั่นคงไปหมดแล้ว นอกจากนั้น คลองไทยกลับช่วยสนับสนุน การทำงานของการทัพเรือ ที่จะส่งเรือลาดตระเวนจากอ่าวไทยไปฝั่งอันดามันได้ง่ายและเร็วขึ้น หากเกิดสถานะการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งใช้เวลาอ้อมกว่า 2 วัน

ทางด้านกัปตันบัณฑิต ศรีภา กัปตันเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ประสบการณ์กว่า 10 ปี มีมุมมองว่า เรือสินค้าทุกวันนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และกินน้ำลึกมากขึ้น โดยกินน้ำลึกมากกว่า 20-25 เมตร เรือที่กินน้ำลึกมากกว่า 20 เมตร จะหันไปใช้ช่องแคบซุนดาและลอมบ็อค ในอินโดนีเซีย ไม่สามารถผ่านช่องแคบมะละกาได้ เพราะท้องน้ำตื่น หากไทยทำคลองไทย ที่ความลึก 30 เมตร จะได้เปรียบ การแล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกา ตามสภาพภูมิประเทศของท้องน้ำที่มะละกาเป็นชั้นหินแข็ง การขุดลอกทะเลทำได้อยาก และเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งเป็นต้นทุนหากสิงคโปร์ จะขุดลอกความลึกเพิ่ม

ความเป็นไปได้ ในการสร้างโครงการคลองไทยนั้นไม่ได้ไกลเกินฝัน
ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของผู้นำ และประชาชนในชาติว่า “จะเดินหน้าหรือหยุดรอ”
สถานการณ์โลก ในการขุดคลองในปัจจุบัน และอดีต ต่างไปจากเดินมาก
อีกทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจ และแหล่งเงินทุน ที่มีมากกว่าเดิม
รวมทั้งหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาร่วมมือกัน มีมากกว่าแค่ “อังกฤษและฝรั่งเศส”
เหมือนในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องทรงระงับแนวคิดในการขุดไป
เพราะเกรงอำนาจของ 2 ชาติ ที่จะกระทบความมั่นคง
แต่เวลานี้ปี 2020 คลองไทย กลายเป็นโอกาส
ที่ลอยมาอยู่ตรงหน้าบ้าน ของประเทศไทย
เหลือเพียงแต่ว่า เจ้าของบ้าน จะยอมเหนื่อย ยอมเสี่ยง และยอมสู้
เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชาติกันจริงอย่างที่ประกาศกันไว้หรือไม่เท่านั้นเอง

บรรยายภาพจากงานเสวนา
จากซ้ายไปขวา ,
นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย,
บัณฑิต ศรีภา กัปตันเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศ,
วิระวัฒน์ แก้วภพ วิศวกรคลองไทย,
สุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ,
รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล,
ดร. พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานคณะอนุกรรมาะการยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ, สฤษพงศ์ เกี่ยวข้อง สส. กระบี่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *