กองทุนสื่อ จัดประกวดคลิป “สร้างสรรค์ไทย 2” ในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ชิงเงินรางวัลรวม 2 แสนบาท

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการ สร้างสรรค์ไทย 2 ในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” เพื่อให้เยาวชนในฐานะขุมปัญญาและการสร้างสื่อทางวัฒนธรรมท้องถิ่น มีส่วนร่วมค่านิยมและจิตสำนึกให้คนในสังคมเห็นคุณค่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ชิงเงินรางวัล 2 แสนบาท

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตการเผยแพร่สื่อปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ ที่ต้องการเสริมสร้างบุคลากรเด็กและเยาวชนให้สามารถพัฒนาศักยภาพตลอดช่วงชีวิต ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดี อีกทั้งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรเด็ก เยาวชน ในฐานะเป็นขุมกำลังทางปัญญา และการสร้างสรรค์สื่อทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสร้างค่านิยม จิตสำนึกให้คนในสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ภายใต้โครงการ สร้างสรรค์ไทย 2 (Creative Thai) ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับการตอบรับจากเยาวชนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์สื่อที่ช่วยปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีให้กับสังคม รวมถึงสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เกิดเป็นการหวงแหนและอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนอยู่คู่ประเทศชาติ
“การจัดโครงการสร้างสรรค์ไทย 2 นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก และเยาวชน จากทุกภูมิภาคทั่วไทย นำของดีในชุมชน สิ่งล้ำค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น นำเสนอสู่สายตาคนในภูมิภาคอื่นๆ ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบคลิปวิดีโอ ซึ่งสิ่งที่จะได้กลับมานั้นนอกจากการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น ของดีชุมชนสู่สายตาคนในวงกว้างแล้ว เยาวชนเองจะได้มีโอกาสซึมซับและตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมอันดีงามของคนในชุมชน สร้างค่านิยมและจิตสำนึกให้สังคมเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมที่ดี” นายธนกรฯ กล่าว

โครงการสร้างสรรค์ไทย 2 เปิดโอกาสให้เยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี ไม่จำกัดเพศ การศึกษา อาชีพ ภูมิลำเนาและสัญชาติ ส่งผลงานเป็นคลิปวิดีโอเข้าประกวด ความยาวไม่เกิน 5 นาที โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2565 ถึง 10 มกราคม พ.ศ.2566 สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ.2566 โดยสามารถส่งได้ทั้งประเภทบุคคล และประเภททีม สำหรับเยาวชนที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ทางกองทุนฯ จะมีการจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้ความรู้ ประสบการณ์ และแนะนำเทคนิคในการผลิตผลงานเข้าร่วมประกวด โดยวิทยากรระดับประเทศ อาทิ รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา,ดร.พิชชากานต์ ช่วงชัย,ดร.สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์,คุณโกญจนาท โขมศิริ และ อาจารย์ประสงค์ กรรโมทาร ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2566 และประกาศผลผู้ชนะรางวัลในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2566

สำหรับคลิปผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้น มีหลักเกณฑ์ที่กรรมการจะพิจารณาหลักๆ คือ สามารถสื่อถึงมิติทางวัฒนธรรมได้อย่างสร้างสรรค์ ตรงกับหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” นำเสนอถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยที่สวยงามลงตัวและมีความคิดสร้างสรรค์ ในการนำเสนอมุมมอง โดย ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด สามารถใช้อุปกรณ์และเทคนิคสร้างสรรค์ผลงานได้ตามถนัด ความยาวของผลงานที่ส่งประกวด ต้องมีความยาว ไม่ต่ำกว่า 3 นาที แต่ไม่เกิน 5 นาที คลิปผลงานต้องมีขนาด 16:9 เเนวนอน ขนาด 1920×1080 พิกเซล เพื่อความเหมาะสมในการลงช่องทาง Youtube ทั้งนี้มีข้อห้ามต่อการนำเสนอผลงานประกวด คือ เนื้อหาต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของวัฒนธรรมไทย ภาพ เสียง เอฟเฟค ที่นำมาผลิตผลงาน ต้องไม่เป็นเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หากกรรมการมีการตรวจพบในภายหลังว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดทันที

สำหรับรางวัลในการประกวด ผู้ผ่านการคัดเลือก แบ่งเป็น 7 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัลๆ ละ 50,000 บาท,รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง มี 1 รางวัลๆ ละ 40,000 บาท,รองชนะเลิศอันดับสอง มี 2 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท และยังมีรางวัลชมเชย อีก 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท,รางวัลขวัญใจมหาชน (Popular Vote) อีก 1 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท โดยทุกรางวัลจะได้รับโล่รางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“อยากให้ส่งผลงานเข้าประกวดกันมากๆ เพราะนอกจากจะได้มีส่วนในการอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึกของสังคมต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ที่มีคุณค่ายิ่งกับประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเยาวชนไทย ต่อการถ่ายทอดผลงานผ่านคลิปวิดีโอ ที่ถือว่าเป็นใบเบิกทางให้เข้าสู่โลกยุคสังคมดิจิทัลที่กว้างขวางมากขึ้นไปอีก เพราะผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะปรากฏสู่สายตาผู้คนทั่วโลก ผ่านช่องทางยูทูป และสื่อออนไลน์ยอดนิยมในปัจจุบัน” นายธนกรฯ สรุป ในตอนท้าย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ผ่าน LINE ID : @Creativethai ช่องทางนี้เท่านั้น และสามารถติดตามข่าวสารโครงการฯ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเฟซบุ๊กเพจ : สร้างสรรค์ไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *