สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันคิดค้นนำเปลือกเมล็ดถั่วเขียวซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งจากการเกษตร มาสร้างมูลค่าด้วยการนำมาสกัดสาร Vitexin และ Iso-vitexin ซึ่งเป็นสารชีวภาพที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันไวรัส และลดความดันโลหิตสูง โดยผ่านกระบวนการสกัดและทำให้บริสุทธิ์ เพื่อนำไปใช้งานด้านเภสัชภัณฑ์ นอกจากนี้ Vitexin และ Iso-vitexin เป็นสารประกอบโพลีฟีนอลยังสามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางชะลอวัย โดยจะมีการขยายผลต่อยอดโครงการวิจัยนี้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุนหรือราคาของ Vitexin และ Iso-vitexin และการนำผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของสารสกัดหยาบและสารบริสุทธิ์ไปผสมกับองค์ประกอบอื่น ๆเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมงานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ได้รับความสนใจทุกวันนี้คือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งโครงการวิจัยสกัดสารชีวภาพ Vitexin และ Iso-vitexin จากเปลือกเมล็ดถั่วเขียว จากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับว่าเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าวัตถุเหลือใช้จากการเกษตร มาใช้ประโยชน์ในวงการอาหารและยา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.อรรถศักดิ์ จารีย์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้ได้ร่วมกับ ดร.พฤกษ์ ตั้งพร้อมพันธ์ อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเป้าหมายของการทำวิจัยแบ่งเป็น 3 ส่วน ในส่วนแรกเป็นการกระตุ้นให้เห็นถึงศักยภาพการเพิ่มคุณค่าให้กับเปลือกเมล็ดถั่วเขียว โดยใช้กระบวนการสกัดและทำให้บริสุทธิ์ ทำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบ ได้แก่ สารสกัดหยาบ และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีความบริสุทธิ์สูง ส่วนที่สองเป็นการนำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รูปแบบ ไปต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหารเสริม ยา ส่วนที่สามคือการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับยารักษาโรคด้วยการลดต้นทุนของการผลิต ทำให้หน่วยงานที่พัฒนายารักษาโรคสามารถเข้าถึงสารออกฤทธิ์ในรูปสารบริสุทธิ์ได้ง่ายขึ้น จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต
สำหรับกระบวนการในการสกัดสาร Vitexin และ Iso-vitexin จากเปลือกเมล็ดถั่วเขียวสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแช่ในตัวทำละลาย การใช้สภาวะเหนือวิกฤตร่วมกับตัวทำละลาย การใช้ระบบการไหลแบบสวนทาง สารละลายที่ได้เมื่อนำมาแยกเอาตัวทำละลายออกจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “สารสกัดหยาบ” อย่างไรก็ตามในสารสกัดหยาบมีสารอยู่ด้วยกันหลายชนิด นอกจากนี้ปริมาณสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลผลิตของพืชได้ การนำสารสกัดหยาบมาผลิตเป็นสารเป้าหมายที่มีความบริสุทธิ์สูงเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสารดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้วิธีการทางโครมาโทกราฟีเพื่อแยกสาร Vitexin และ Iso-vitexin ออกจากกันและออกจากสารอื่น ๆ ที่อยู่ในสารสกัดหยาบ
ศาสตราจารย์ ดร.อรรถศักดิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จจากการสกัดสาร Vitexin และ Iso-vitexin ที่มีความบริสุทธิ์สูง (มากกว่า 98%) มีราคาขาย 60 เหรียญสหรัฐต่อ 20 มิลลิกรัม และ 50 เหรียญสหรัฐต่อ 20 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าจากเปลือกเมล็ดถั่วเขียวได้เป็นอย่างมาก นอกเหนือจากมูลค่าที่เป็นตัวเงินแล้ว การพัฒนากระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์จะช่วยลดต้นทุน (ราคา) ของสารดังกล่าวได้ เป็นการช่วยให้หลายหน่วยงานหรือนักวิจัยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของ Vitexin และ iso-vitexin ในการวิจัยและการพัฒนาเป็นยารักษาโรค สำหรับการขยายผลต่อยอดโครงการวิจัยนี้จะดำเนินการต่อใน 2 รูปแบบ คือ การเพิ่มกำลังการผลิต vitexin และ Iso-vitexin เพื่อช่วยลดต้นทุนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของสารสกัดหยาบและสารบริสุทธิ์ไปผสมกับองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การผสมกับสารสกัดจากพืชชนิดอื่น และการผลิตเป็นอนุภาคห่อหุ้ม เป็นต้น