อสส. เปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” ตัวแรกของประเทศไทยหลังหายไปจากธรรมชาติประเทศไทยกว่า 30 ปี

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” ตัวแรกของประเทศไทย หลังรอมากว่า 30 ปี ภายใต้การดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย”

10 เมษายน 2566 ​นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และนายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกันเปิดตัว สมาชิกใหม่ “ลูกพญาแร้ง” หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลกก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ มาระยะหนึ่งแล้ว โดยความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ พญาแร้งตัวแรกของประเทศไทย เกิดจากแม่ชื่อว่า “นุ้ย” และพ่อชื่อ “แจ็ค” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 หลังจากที่พญาแร้งได้หายไปจากธรรมชาติในประเทศไทยไปกว่า 30 ปี ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย ซึ่ง​เป็นความร่วมมือกันระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”

ทั้งนี้แม่พญาแร้งออกไข่ใบแรกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูการผสมพันธุ์ แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประชากรโดยหวังให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่สอง และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่แม่พญาแร้ง สามารถออกไข่ใบที่สอง ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเองเพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งเราอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้ โดยลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรกฟักออกมาเป็นตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วัน

นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย หลังรอมานานกว่า 30 ปี ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ในโลกมีแร้งทั้งหมด 23 ชนิด ในประเทศไทย พบได้ 5 ชนิด รวมถึง พญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบแร้งประจำถิ่นในธรรมชาติอีกเลย โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง ซึ่งพบซากพญาแร้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แร้งทุกชนิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพญาแร้ง ที่มีสถานภาพเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) ตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในส่วนเอเชียเป็นนกประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ มีประชากรในธรรมชาติ ไม่ถึง 9,000 ตัว ทั่วโลก การเกิดขึ้นของลูกพญาแร้งในสถานที่เพาะเลี้ยง (สวนสัตว์) ถือเป็นเรื่องยากมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งแค่ในสถานที่เพาะเลี้ยงเพียง 6 ตัวเท่านั้น

​สวนสัตว์นครราชสีมา มีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี โดยพ่อแม่พญาแร้ง คู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยง ทั่วโลก มีเพียงแค่ประเทศเทศอิตาลี ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สองที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง นับเป็นความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ด้านการอนุรักษ์ และวิจัย ในการเติมประชากรในอนาคต

โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งโดยการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยเดิมตามธรรมชาติ โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายพญาแร้ง จำนวน 1 คู่ เข้ากรงฟื้นฟูบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังผ่านไป 30 ปี ที่พญาแร้งฝูงสุดท้ายได้หายไปจากป่าห้วยขาแข้ง และได้นำพญาแร้งกลับสู่ป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง จึงถือเอาวันนี้เป็น “วันอนุรักษ์พญาแร้ง” ของประเทศไทยอีกด้วย สำหรับความร่วมมือในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในครั้งนี้ ถือเป็นความสำคัญในการเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) โดยการเพิ่มประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่- ห้วยขาแข้ง ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติและสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับการประเทศและระหว่างประเทศ โดยเป้าหมายหวังไว้ให้พญาแร้งกลับมาโบยบินในพื้นที่ธรรมชาติในป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง

พญาแร้ง ถือเป็นนกเทศบาลประจำพื้นป่า พญาแร้งแม้เขาจะเป็นนกนักล่า แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับนกล่าชนิดอื่น พญาแร้งไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วก็กินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงมีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นนกเทศบาลประจำผืนป่านอกจากการมีอยู่ของพญาแร้งจะแสดงให้เห็นถึงความครบครันของธรรมชาติแล้ว การกำจัดซากสัตว์ของพญาแร้ง ย่อมเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย

ผู้ที่สนใจร่วมอุปถัมภ์สัตว์ป่า สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเพิ่มผ่านช่องทาง www.zoothailand.org เพจเฟซบุ๊ก (Facebook) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สวนสัตว์ 6 แห่ง และโครงการ คชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ โดยสามารถโอนเงินได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทยเลขที่ 006-0-23655-8 ชื่อบัญชีกองทุนเพื่อหมีแพนด้า

โฆษกองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *