วันที่ 30 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว “เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง” พร้อมด้วย ศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูลคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ของ วช.
ซึ่งภายในงานได้จัดการแถลงข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดย ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ประกอบด้วย ประเด็น “ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง” โดย รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ประเด็น “ลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง” โดย รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเด็น “ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง” โดย ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประเด็น“ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง” โดย รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช.8
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้จากรายงานข่าวของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญตำบลปากทางอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 – 5 (เบา-ปานกลาง) ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้างทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ทันต่อเหตุการณ์ตามหลักวิชาการให้กับประชาคมวิจัยและประชาชนทั่วไป วช. ภายใต้กระทรวง อว. โดย ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านแผ่นดินไหว(Earthquake Research Center of Thailand) ภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) จึงได้จัดแถลงข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นในวันนี้ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายประเด็นอันจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคต
รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง นั้นส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเลย รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ใต้ดินไม่เคยมีพลังงาน นอกเหนือจาก 16 รอยเลื่อนที่มีพลังงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี บริเวณแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้คู่ขนานกับแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางตะวันออกของศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวมีการคาดว่าเป็นรอยเลื่อนรอบแขนงของรอยเลื่อนที่มีพลังงาน เกิดการสะสมพลังงานในตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสั่นไหว และเป็นรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดิน ในทางวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ คณะทีมนักวิจัยจึงได้ออกแบบโมเดลแผนที่จำลองที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง ซึ่งแผนที่ป้องกันความเสี่ยงว่าพื้นที่ตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวจะมีส่วนช่วยในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างทันท่วงที และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อคลายความกังวล
รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง นั้น สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป ทางกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในจ.พิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 ขนาด 4 – 4.9 พบจำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อรอยเลื่อนมีพลังมากในบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ ทีมนักวิจัยได้นำงานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยและสนับสนุนการวางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง ประชาชนสามารถรับรู้และรู้สึกได้ แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงต้องเตรียมรับมือ อยากให้คนไทยตระหนักแต่อย่าตระหนก และเราสามารถรับมือด้วยมาตรการทางโครงสร้างและกฎหมาย
รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างอาคารที่ปลอดภัย ดังนั้นเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียในอนาคต