ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย แสดงความยินดีกับนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมชื่นชมนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร วอนรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลปัญหาลดโควตาซื้อใบยาสูบ ชี้นโยบายขึ้นภาษีบุหรี่ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการบุหรี่เถื่อนทะลักเข้าประเทศ รายได้จากภาษีบุหรี่ลดลง ทำให้รัฐสูญรายได้มหาศาล กระทบชาวไร่ยาสูบเกือบ 30,000 ครัวเรือน วอนกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ปราบปรามบุหรี่เถื่อน บุหรี่ปลอม และทบทวนอัตราภาษีไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ
นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ได้รับผลกระทบจากปรับภาษีบุหรี่มาโดยตลอด เมื่อครั้งที่เราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น หากดูตามหลักการที่สรรพสามิตยึดมั่นมาตลอด คือการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่แบบสูงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลที่ได้รับกลับมาไม่ได้ช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น และไม่ได้ลดผู้สูบบุหรี่ลงอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าหากกรมสรรพสามิต ยังยึดหลักการเดิมด้วยการเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว ชาวไร่ยาสูบก็จะโดนตัดโควตาลงไปอีก ที่ผ่านมาชาวไร่ยาสูบถูกหั่นโควตาไปกว่าร้อยละ 50 เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน ในขณะที่คนหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนมากกว่าเดิม เห็นได้ว่าแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมานั้นไม่ตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้านที่สรรพสามิตได้เคยวางแนวทางเอาไว้คือ 1.การดูแลเกษตรกร 2.รายได้ของรัฐบาล 3.สุขภาพของประชาชน และ 4.การปราบปรามบุหรี่เถื่อน
เรารู้สึกยินดีที่การประกาศนโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลมุ่งเน้นการช่วยเหลือหนี้สิน และปัญหาของเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน จึงหวังให้ท่านนายกรัฐมนตรีและ รมว.ว่าการกระทรวงการคลังทบทวนอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสม หากจะปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว ก็ไม่ควรทำให้อัตราภาษีสูงขึ้นอย่างสุดโต่ง เพราะจะซ้ำเติมชาวไร่ยาสูบและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างหนักอีกครั้ง ซึ่งชาวไร่ยาสูบยินดีเข้าพบท่านนายกเพื่อเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคการเกษตร เพื่อนำไปประกอบการออกนโยบายภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อเกษตกรชาวไร่ยาสูบ และทำให้ภาครัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ”
ซึ่งการเรียกร้องให้พิจารณาอัตราภาษียาสูบในครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางแนะนำของ ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระ ที่เคยให้คำแนะนำเรื่องการจัดเก็บภาษีว่า “จุดที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐควรกำหนดแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่และยาเส้นในระยะยาว อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยหาจุดสมดุลระหว่างนโยบายด้านสุขภาพ, ผลกระทบต่อที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบ, ไม่ควรเพิ่มภาระภาษีอย่างรวดเร็วเกินไป และทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจ โดยประกาศแผนภาษีระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบทราบล่วงหน้า และมีระยะเวลาเพียงพอที่จะปรับตัวและปรับเปลี่ยนแนวทางการเพาะปลูกให้”
ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า “ในปัจจุบันการค้าบุหรี่เถื่อน บุหรี่ปลอม มีการขยายตัวอย่างมากถึงเกือบร้อยละ 25 โดยเฉพาะภาคใต้ เช่น สตูล สงขลา พัทลุง ที่บุหรี่ของการยาสูบฯ แทบขายไม่ได้เลย และยังขยายตัวมายังกทม.และปริมณฑลอีกโดยคาดว่าส่วนใหญ่มาจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา และมีราคาขายแค่เพียง 20-30 บาท ซึ่งหากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุม ปราบปราบอย่างจริงจัง ก็ไม่น่าจะทะลักเข้าประเทศมาได้ขนาดนี้ คงต้องฝากท่านนายกให้กระทรวงการคลังช่วยเร่งปราบปรามอย่างจริงจัง
ในส่วนของของการยาสูบฯ มีภาระเพิ่มขึ้นจนต้องปรับราคาของบุหรี่ราคาถูกขึ้นไปขายที่ราคา 67-72 บาท จากเดิมที่เมื่อ 6 ปีที่แล้วขายแค่ 40 บาท จึงอยากให้คำนึงถึงนโยบายที่เป็นกลาง อัตราภาษีที่เหมาะสม การปรับขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงตัวแปรอื่นในระบบ เป็นการส่งเสริมให้บุหรี่เถื่อนเร่งขยายตัวมากขึ้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งที่มีจำนวนผู้สูบไม่ต่างจากเดิม ยอดขายและผลกำไรของการยาสูบฯ ลดลงอย่างฮวบฮาบกว่าร้อยละ 90 จนยากที่การยาสูบฯ จะกลับมามีผลประกอบการที่ดีดังเดิม และชาวไร่ยาสูบ 30,000 ครอบครัวทั่วไทยอาจสูญเสียอาชีพอย่างไม่มีวันหวนกลับ”