ค่าฝุ่นพุ่ง! วช.นำวิจัยและนวัตกรรม “รู้ทันฝุ่น PM2.5”

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “รู้ทันฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Hub of Environmental Health) ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและรู้ทันต่อเหตุการณ์ วช.จึงได้นำองค์ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ (1) การพยากรณ์/คาดการณ์ปริมาณ PM2.5 (2) การลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด (3) การบรรเทาปัญหา PM2.5 ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและสุขภาพอนามัย (4) การสร้างความรับรู้ของประชาชน และ (5) การบริหารจัดการ PM2.5 มาแลกเปลี่ยนและพูดคุยในข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” ร่วมนำเสนอในประเด็นสำคัญ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนรู้ทันฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม

สำหรับการเสวนาวิชาการมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ประเด็น “ที่มาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย รศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ประเด็น “ผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อสุขภาพ” โดย รศ. ดร.นพ.บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล และประเด็น “วิธีแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC)

ถัดมา กิจกรรมการเสวนา “รู้ทันฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพ และแก้ไข ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ผู้ทรงวุฒิผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ว่า ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งฝุ่นควันที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ต้องมีการปล่อยควัน ในกระบวนการผลิต ควันจากการเผาไหม้ในกิจกรรมในครัวเรือน เช่น การประกอบอาหาร การจุดธูปเทียน หรือแม้แต่ควันจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีโอกาสเกิดการเผาไหม้ ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อสุขภาพ นั้น ค่าฝุ่น PM2.5 สูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสะสมในระยะยาว ส่งผลต่อระบบผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นภูมิแพ้, โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง, มะเร็งปอด และภาวะอักเสบเรื้อรัง ดังนั้น ควรป้องกันการรับฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด, โรคหัวใจ ฯลฯ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยงานวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งประเทศไทยมีนวัตกรรมที่รองรับสำหรับการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษ การจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 และการกำหนดมาตรการในการลดฝุ่น PM2.5 จากแหล่งมลพิษต่าง ๆ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า PM2.5 ฝุ่นละอองเล็กจิ๋ว ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลายประเทศต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยประชากรหนาแน่น ความคับคั่งของการจราจร รวมถึงเขม่าควัน และฝุ่นผงจากการก่อสร้าง การเผาไหม้ ซึ่งเสวนาวิชาการในครั้งนี้จะมีส่วนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองรู้เท่าทันฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป และ “เราทุกคนเป็นคนก่อมลพิษมากบ้างน้อยบ้าง เราทุกคนต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไข”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *