พว. และ โรงเรียนดรุณาราชบุรี ร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ปีการศึกษา 2567 และการแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี 

พว. และ โรงเรียนดรุณาราชบุรี ร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ปีการศึกษา 2567 และการแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี 

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ หอประชุม St.Francis โรงเรียนดรุณาราชบุรี มีพิธีเปิดงานมหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ปีการศึกษา 2567 การแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี “Love to Learn, Learn to Live, and Live to Love” โดยมี บิชอป ซิลวีโอ สิริพงษ์  จรัสศรี ประมุขสังฆมณฑลราชบุรี  เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า มหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ประจำปีการศึกษา 2567 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทักษะความรู้และศักยภาพของตนเองผ่านการจัดกิจกรรม ซึ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกสังฆมณฑลราชบุรีจะจัดการศึกษาโดยเน้นคุณธรรมควบคู่กับความรู้ โดยใช้คติคำขวัญเดียวกันว่า คุณธรรมนำวิชาพัฒนาสุข เพื่อให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาในส่วนทั้งความรู้ ความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หมายความว่าเราจะเน้นความเป็นเลิศในเรื่องของคุณงามความดีรับใช้สังคม

บิชอปซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี กล่าวต่อไปว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ร่วมกับครูวางแผนจัดการเรียนด้วยกัน ให้นักเรียนมีบทบาทร่วมกับคุณครูทำโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่นักเรียนจะเป็นผู้รับแล้วครูเป็นผู้ถ่ายทอด แต่ปัจจุบันครูกับนักเรียนวางแผนร่วมกัน บางครั้งครูก็ต้องเรียนจากนักเรียน เด็กก็เรียนเป็นโครงงาน ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมากขึ้นมีห้อง AI ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังเน้นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมอยู่

บาทหลวง ผศ.ดร.อภิสิทธิ์ กฤษเจริญ ประธานฝ่ายอบรมศึกษาสังฆมณฑลราชบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณาราชบุรี กล่าวว่า สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)ได้มาช่วยโรงเรียนอบรมเรื่องของการเรียนรู้แบบ Active Learning ทางโรงเรียนจึงให้เป็นนโยบายว่า ครูจะต้อง Active แล้วไปเรียนรู้พร้อมกับเด็ก โดยมีเด็กเป็นเจ้าของโครงการ ครูและนักเรียนเรียนไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นความรู้ของเด็กและครูจะต้องมาคู่กัน เริ่มต้น คือ ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าจะเรียนเรื่องอะไรแล้วมาวางแผนร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก ทำให้การเรียนการสอนไม่เป็น Passive แต่เป็น Active  เพราะครูกับเด็กจะต้องลงมือทำร่วมกัน ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนเพราะเขาได้ทำ โรงเรียน

“ผมเคยสัมภาษณ์เด็กว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนที่นี่เด็กบอกว่าเพราะได้ลงมือทำจริง พอเรียนก็จะมีความสุข ทำให้โรงเรียนตั้งเป็นนโยบายว่าเรากำลังจะสร้างนวัตกรรมในการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเป็นนวัตกรที่จะสร้างองค์ความรู้ได้เอง พัฒนาได้เอง  เพราะเด็กบอกว่ามีความสุข เวลาเรียนในห้องเรียนไม่ได้นั่งเรียนอย่างเดียว แต่ได้ทำกิจกรรม เป็นการเรียนที่มีความสุข ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเกิดการพัฒนา และเด็กก็มีคุณธรรม รู้จักการแบ่งปัน มีจิตอาสา ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับ  และการที่เด็กได้เรียนรู้กระบวนการก็จะทำให้สามารถไปต่อยอดได้ เมื่อเขาสามารถต่อยอดสำเร็จเค้าก็จะเป็นนวัตกรที่จะสามารถไปสร้างอาชีพได้ เพราะการเรียนแบบ Active Learning เด็กจะต้องมีโปรเจค ที่สำคัญโปรเจคที่คิดจะไม่ใช่คิดเพื่อตัวเอง แต่คิดเพื่อต่อยอดไปยังคนอื่นและสังคม โดยอาจจะเริ่มจากคนที่รัก คนที่ชอบ หรือคนที่ใกล้ตัวก่อน แล้วต่อยอดไปถึงสังคม เช่น Theme งานมหกรรมวิชาการวันนี้ คือ รักษ์โลก ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะตัวเรา แต่หมายถึงโลกทั้งโลกที่เด็กจะต้องดูแล เด็กก็จะไปคิดโปรเจค เช่น คนที่เลี้ยงสัตว์เค้าก็ทำเครื่องป้อนอาหารอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์กับตัวเองก็เผื่อไปยังคนอื่นด้วย เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการต่อยอดความคิดจากองค์ความรู้ที่มี Active Learning ก็คือกระบวนการเรียนรู้ที่จะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้ และทำให้เด็กได้มีความสุขในการเรียน สอดคล้องกับหลักการของคริสตจักรที่ว่าเรียนเพื่อช่วยคนอื่น” บาทหลวง ผศ.ดร.อภิสิทธิ์กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาคนยุคใหม่เป็นการพัฒนาผ่านกระบวนการเรียนรู้ โดยการให้ผู้เรียนเกิดความสามารถเป็นผู้สร้างความรู้เองได้ทุกมิติ ทั้งมิติของการคิด มิติของคุณธรรม ค่านิยม และมิติของทักษะกระบวนการ ซึ่งโรงเรียนในเครือสังฆมณฑลราชบุรี สามารถจัดการศึกษาโดยหลอมรวมทั้งสามมิติให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ไม่คิดแบบแยกส่วน มีเหตุมีผล และมีคุณธรรม ค่านิยม จริยธรรม ทำให้เด็กคิดไปถึงมุมกว้าง ไปถึงสังคม ไปถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศชั้นนำทั่วโลกต้องการให้คนคิดแบบนี้ ถ้าเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ที่ทำเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลกได้ สามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ งานของเค้าจะมีคุณค่าต่อคนทั้งโลกทันทีและมีมูลค่าสูง 

“เท่าที่คุยกับผู้บริหารโรงเรียนดรุณาราชบุรี โรงเรียนได้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเข้าถึงนวัตกรรม ไม่ใช่เอาผลงานนวัตกรรมมาโชว์ แต่นักเรียนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงนวัตกรรมโดยการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะแบบกลุ่ม แบบเดี่ยว กลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ แต่ทุกคนต้องเข้าถึงผ่านสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม เป็นจุดเริ่มต้นที่สัมพันธ์กับความฉลาดของเด็กแต่ละด้าน เช่น เด็กฉลาดคณิตศาสตร์เริ่มที่คณิตศาสตร์ ถ้าฉลาดภาษาก็เริ่มที่ภาษา แต่ทั้งหมดนี้จะพัฒนาไปสู่กระบวนการเรียนรู้เดียวกันผ่าน การเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวและว่า โรงเรียนดรุณาราชบุรีสามารถบรรลุเป้าหมายมาตรฐานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและเป็นโรงเรียนต้นแบบของประเทศได้ เพราะหัวใจของประเทศขณะนี้คือการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ตามมาตรฐานสากลซึ่งหลายประเทศนำมาใช้และบรรลุเป้าหมายจนตอนนี้เค้าเริ่มต่อยอดแล้ว แต่โรงเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบรรลุได้แม้แต่มาตรฐานเดียว เพราะยังไม่สอนแบบ Active Learning

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *