สภาทนายความตั้ง “วีรพัฒน์ ปริยวงศ์” นั่งหัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือทางคดีเหยื่อดิไอคอนในทางแพ่งและอาญา ลั่น! ต้องคุ้มครองผู้เสียหาย เตรียมจัดทีมทนายความอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน

เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2568  ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนกับบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ได้มีมติแต่งตั้งให้ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อนุกรรมการฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ให้ความช่วยเหลือในคดีอาญา โดยคณะทำงานฯ จะดำเนินการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการโจทก์ซึ่งฟ้องคดี ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายทุกราย 
สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือในคดีแพ่ง ในเบื้องต้นคณะทำงานฯ จะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม            จากผู้เสียหายและเตรียมเปิดให้มีการลงนามหนังสือมอบอำนาจก่อนยื่นฟ้องต่อไป
การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้สภาทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้แก่ ประชาชน องค์กรภาคเอกชน องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ หน่วยงานราชการ องค์กรมหาชน ผู้ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีเหตุขัดข้องในการใช้สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือคณะกรรมการเห็นสมควรรับเป็นคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยกำหนดให้มี กองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยกองทุน ประกอบด้วย 
(1) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปีจากเงินรายได้ของสภาทนายความ ตามมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรของรัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรมหาชน ประชาชนเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
(3) เงินเพื่อช่วยเหลือ เงินค่าธรรมเนียม เงินรางวัล เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจากรัฐบาลหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรภาคเอกชน องค์กรมหาชน หรือบุคคลผู้ที่รับความช่วยเหลือ                    ทางกฎหมาย
(4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรภาคเอกชน องค์กรมหาชน หรือเอกชนเพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และ
(5) ดอกผลของ (1) (2)

ดร.วิเชียร ยังกล่าวอีกว่า สภาทนายความฯ ไม่ได้รับงบประมาณใดๆเพื่อดำเนินคดีลักษณะนี้จากภาครัฐเป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดหาทุนทรัพย์เพื่อนำมาใช้จ่ายในการช่วยเหลือกรณีนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *