ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับนางสาวรฌทร สงวนพงศ์ นายอำเภอลาดหลุมแก้ว เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา
“เห็ด สืบ สาส์น” ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพิเพียง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน
ให้ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เข้ามาศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในเรื่องของกระบวนการผลิตเห็ด ผักปลอดสาร การปศุสัตว์ และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการควบคุม
สภาพแวดล้อมในการผลิตพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน นอกจากนี้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังได้ส่งเสริมในเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้คุ้มค่า โดยน้อมนำ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “เห็ด สืบ สาส์น”
ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยมี ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้วอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.ดร.นฤมลธนานันต์
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กำนันธีระชัย ศิลาขาว (กำนันตำบลคูขวาง)
ผู้ใหญ่วีระ ชมเพลินใจ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลคูขวาง) คณะผู้บริหารจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด และประชาชนในพื้นที่
ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชบายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มาตรา 7
และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพตามความต้องการของชุมชน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม
และน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “เห็ด สืบ สาส์น” ประกอบไปด้วย 5 ฐานการเรียนรู้ได้แก่ 1) ฐาน “เห็ด สืบ สาส์น” เป็นฐานให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเห็ดและการประยุกต์
ใช้นวัตกรรมการควบคุมสภาพแวดล้อมผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการผลิตเห็ด 2) ฐานดูแลดินเพื่อให้ดินดูแลพืช เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการปรุงดินจากวัสดุธรรมชาติที่เหมาะกับ
พืชปลอดสารตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ 3) ฐานพืชพรรณปลอดสาร เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสาร 4) ฐานรักษ์น้ำรักปลา เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหาร
จัดการน้ำแบบธรรมชาติเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 5) ฐานวิถีแบบพอเพียงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเป็ดและไก่ไข่ไว้รับประทานในครัวเรือน