ASA Building and Construction Forum 2020
ระดมสมองก้าวข้ามทุกความท้าทาย
สร้างโอกาสธุรกิจที่ยั่งยืน
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) คณะผู้จัดงานสถาปนิก’64 ได้จัดงาน ASA Building and Construction Forum 2020 ในหัวข้อ “Emerging Challenges, Recovering Industries” ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และการก่อสร้างจากหน่วยงานและบริษัทชั้นนำ ร่วมกันระดมความคิด ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง และสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้หลายอาชีพหลายธุรกิจต่างต้องปรับตัวเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว ‘สถาปนิก’ เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันให้แวดวงสถาปนิกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เราได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสถาปนิกไทยและสร้างเครือข่ายเพื่อใช้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดงานสถาปนิก ซึ่งถือเป็นงานจัดแสดงสินค้านวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยในระดับนานาชาติ เป็นต้น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเเละเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการออกแบบและสิ่งก่อสร้าง สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) จึงจัดงาน ASA Building and Construction Forum 2020 ภายใต้แนวคิด “Emerging Challenges, Recovering Industries” ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 1 – 2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อนําเสนอภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และแนวทางในการดําเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย
อุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทย เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (Hub) โดยมีผลงานการออกแบบของนักออกแบบไทยที่ได้รับการยอมรับ และปรากฏในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของสถาปนิกไทยให้มีความพร้อมในทุกองค์ความรู้ และเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างสถาปนิกและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เติบโตไปพร้อมกัน นายชนะกล่าว
ด้าน ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานการจัดงานสถาปนิก’64 กล่าวเสริมว่า สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจและผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของไทย ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และการค้าการลงทุน มาร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “THAILAND ECONOMIC OUTLOOK 2020 – 2022 ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2563-2565” เพื่อเป็นการฉายภาพเศรษฐกิจ การลงทุนและการปรับตัวของผู้ประกอบการในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้ โดยมี ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ พูดคุยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2563-2565 และโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คุณรังสิน กฤตลักษณ์ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พูดคุยถึงทิศทางการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และปัจจัยเสี่ยงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดในโครงการคืนชีวิตให้ศุลกสถาน พัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสามเป็นบูติกโฮเต็ล คุณภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เจาะลึกถึงทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อสร้าง ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงทิศทางตลาดทุนไทย และการปรับตัวเพื่อทางรอดของธุรกิจไทย และคุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พูดถึงเทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และความสามารถในการแข่งขันของสถาปนิกไทยสู่ตลาดโลก
ในการจัดงานสัมมนาดังกล่าว ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบในแวดวงสถาปนิก อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง รวมไปถึงนักลงทุน คณะผู้จัดงานฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาแผนธุรกิจ ร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรค มองถึงโอกาสในอนาคต และส่งเสริมอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างให้เติบโตอย่างยั่งยืน