ชุดหน้ากาก PAPR ฝีมือไทยชุดเกราะพร้อมรบโควิด-19 กู้วิกฤติทดแทน N95

ในช่วงวิกฤติที่ทั่วโลกกำลังรับมือการระบาดของโควิด-19 ทั้งหน้ากาก N95 และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนและไม่สามารถซื้อหาได้ จึงกลายเป็นโจทย์ให้บุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งแพทย์นักเทคนิคการแพทย์ สถาปนิก วิศวกร จากภาครัฐและเอกชน มารวมพลังกันสร้างนวัตกรรมเป็นชุดป้องกันเชื้อโรคที่เปรียบเสมือนชุดเกราะสำหรับสู้รบกับโรคระบาด อีกทั้งยังสามารถซักล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(PAPR) เป็นผลงานที่สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai SUBCON) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมี อ.นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมชุดหน้ากากดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการบูรณาการองค์ความรู้ของอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน รวมตัวเป็นกลุ่ม ThaiMIC กลุ่มสหศาสตร์นวัตกรรมเพื่อโควิด-19 เช่น แพทย์ สถาปนิก วิศวกรและนักเทคนิคการแพทย์ และเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากาก N95 และชุด PAPR ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)แล้ว

นวัตกรรมชุด PAPR โดยสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ 
1. ชุดพัดลมพร้อมตัวกรองอากาศ (Fan Filter Unit) ที่ประกอบด้วยเข็มขัด (Belt) ไส้กรองหยาบ (Pre Filter) และแบตเตอรีสำรอง 2. หน้ากากครอบใบหน้าและศีรษะ(Hood) และแผ่นหน้ากากใส (Face Shield) และ 3. ท่อส่งลม (Breathing Tube) ซึ่งชุดPAPR ที่คนไทยผลิตขึ้นนี้มีความแตกต่างจากชุด PAPR จากต่างประเทศ ตรงหน้ากากครอบใบหน้าและศีรษะที่สามารถใช้งานซ้ำได้ และนวัตกรรมชุด PAPR ยังได้รับการทดสอบการรั่วทุกเครื่องจากบริษัท Q&E International และได้รับใบรับรองว่ามีความปลอดภัย 100%  
ชุดพัดลมในชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีจะดูดลมผ่านไส้กรองคุณภาพสูงหรือไส้กรองเฮปา (HEPA Filter) กรองอนุภาคขนาดมากกว่า 0.3 ไมครอน ได้เกิน 99.99% อีกทั้งสร้างแรงดันบวกในหมวกช่วยป้องกันไม่ให้อากาศจากนอกเข้าไป แบตเตอรีทำงานได้เกิน 4 ชั่วโมง ส่วนผ้าที่ใช้ผลิตเป็นหน้ากากครอบศีรษะนั้นใช้ผ้าชนิดเดียวกับอุตสาหกรรมชุดสกี สามารถซักทำความสะอาดได้ด้วยมือหลังผ่านการฆ่าเชื้อตกค้างตามข้อกำหนดของการควบคุม สำหรับแผ่นหน้ากากใสที่ประกอบเป็นหน้ากากสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ ส่วนตัวพัดลมทำความสะอาดด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์ และท่อส่งลมทำความสะอาดด้วยการแช่น้ำฆ่าเชื้อ ซึ่งการทำความสะอาดได้นี้ทำให้ใช้งานชุด PAPR ซ้ำได้หลายครั้ง

ทว่า นพ.เข็มชาติได้ชี้ถึงข้อจำกัดอย่างหนึ่งของชุด PAPR คือการทำงานของชุดพัดลมค่อนข้างเสียงดัง ทำให้ผู้สวมใส่ได้ยินเสียงไม่ถนัด ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่พบได้ในชุดPAPR จากต่างประเทศเช่นกัน จึงเป็นจุดที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ชุดPAPR ที่คนไทยผลิตขึ้นนี้ช่วยแก้วิกฤติการขาดแคลนชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคได้มากอีกทั้งยังมีราคาประหยัดเนื่องจากมีต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 9,000 บาท ขณะที่ราคาของชุดPAPR จากต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ชุดละกว่า 30,000 บาท แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ไม่สามารถสั่งซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศได้ 

ค่ะสำหรับชุด PAPR นี้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลดังกล่าวประกอบด้วย ชุด PE Gown แบบใช้ครั้งเดียวที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนคุณภาพสูง ชุด Cover all ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 100% สามารถใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง และชุด Leg Cover ทั้งหมดรวมเป็นชุดป้องกันเชื้อโรคสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง นพ.เข็มชาติ เปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนชุดพร้อมรบที่ครบถ้วนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการสู้รบกับเชื้อโรค 

ทั้งนี้ จากความต้องการอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ส่งมอบชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(PAPR) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นโดยGC ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการ เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 

ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้งานได้อย่างเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานสูง ดังนั้น อว. จึงมอบหมายให้ วช. ซึ่ง เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว

ภาพประกอบ 

PAPR 1 – ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และชุด  PAPR

PAPR 2 – ตัวอย่างการสวมชุด  PAPR ร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

PAPR  3 – บรรยากาศระหว่างส่งมอบชุด  PAPR ให้แก่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet)

PAPR 4 – อ.นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *