กรมชลประทาน ประชุมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประธานการประชุมฯ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำวังตอนล่างพร้อมวางแผนระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำกิ่วลม จังหวัดลำปาง หวังบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำวังตอนล่างพื้นที่นับแสนไร่ ช่วยเหลือชาวลำปางและตาก รวม 35 ตำบล ให้รอดพ้นภัยแล้ง
กรมชลประทานได้ดำเนินแผนจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งของลำปางได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 สำหรับการใช้น้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 กรกฎาคม2564 ดังนี้ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 16.1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 34.9 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 11.2 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อกิจกรรมอื่น ๆ 20.0 ล้าน ลบ.ม. และน้ำสำรองกรณีฝนมาล่าช้าหรือฝนทิ้งช่วง 69.8 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 152.0 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ สรุปผลการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งสองจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นไปตามแผน โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไปแล้ว 10.0 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์21.4 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 10.5 ล้าน ลบ.ม. และส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการประปาให้อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อีกจำนวน 5.0 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรไปแล้วทั้งหมด46.9 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรตามแผน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ดังนี้ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 6.1 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 13.5 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 0.7 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นๆ อีก 15 ล้าน ลบ.ม. พร้อมวางมาตรการแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังเพื่อควบคุมให้น้ำไหลถึงพื้นที่เป้าหมาย โดยไม่ให้มีการสูบน้ำระหว่างการส่งน้ำมายังปลายทาง ยกเว้นกรณีสูบน้ำเพื่อการประปาเท่านั้น และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอาคารบังคับน้ำที่อยู่ระหว่างเส้นทางน้ำปิดประตูระบายน้ำทุกแห่ง และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนไปยังผู้ทำกิจการด้านปศุสัตว์และประมง รวมถึงงานก่อสร้างในลำน้ำวัง ขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือ ออกจากลำน้ำวัง นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังจังหวัดตากให้จัดทำฝายชั่วคราว เพื่อเก็บกักน้ำที่ระบายจากเขื่อนกิ่วลมสำรองไว้ใช้ในอนาคตอีกด้วย
“กรมชลประทานจะเริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 64 คาดว่าน้ำจะไหลไปถึงพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำวัง ประมาณวันที่ 13 เม.ย. 64 ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ชลประทานติดตามผลการส่งน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแผนการจัดสรรน้ำในแม่น้ำวังให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง นอกจากนี้ ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ทั้งในระยะกลางและระยะยาวอาทิ การก่อสร้างฝายพร้อมระบบส่งน้ำ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นต้น” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด