ภายหลังการตรวจเยี่ยม ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เปิดเผยว่าขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดสถานที่เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสนามได้ทั่วประเทศ 30 กว่าแห่งรวม 13,000 เตียง เพียงพอที่จะให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ สำหรับที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี สมุทรปราการ ที่เดินทางตรวจเยี่ยมวันนี้จัดเตรียมไว้เป็นโรงพยาบาลสนามหลักของจังหวัดสมุทรปราการ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดเตรียมในช่วงวันหยุดสงกรานต์เป็นที่เรียบร้อยมีขีดความสามารถในการรับผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโรงพยาบาล ประกอบด้วยอาคารหอพัก 2 หลัง เพียงพอจะรับผู้ติดเชื้อได้ 1,000 คน
ปลัด อว. กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยไม่ให้เกิดสถานการณ์ล้นโรงพยาบาล โดย อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพื้นที่ เพื่อให้การดูแลในภาพรวมเป็นเอกภาพมีการบริหารไปในทิศทางเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อและมีความประสงค์จะใช้บริการโรงพยาบาลสนามจะต้องประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งจะดูแลในเบื้องต้นก่อนหลังจากผ่านการคัดกรองที่โรงพยาบาลในแต่ละจุดแล้วแพทย์ประเมินว่าสามารถเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามได้ แพทย์จะเป็นผู้ส่งต่อและเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามเอง ยืนยันว่าขีดความสามารถรองรับของโรงพยาบาลสนามตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ ผู้ติดเชื้อต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 14 วัน ขณะนี้จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั้งพื้นที่และจำนวนเตียงที่ อว. ดูแล สามารถครอบคลุมผู้ติดเชื้อได้หมดทุกคน
ด้าน.ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่ามรภ.ธนบุรี ยินดีและเป็นเกียรติที่ปลัด อว.มาตรวจเยี่ยมและมาให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงานในการป้องกันโควิดในรอบนี้ซึ่งค่อนข้างรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยยินดีดำเนินการตามนโยบายของ อว.ในการช่วยสนับสนุนงานแก่จังหวัดในการรับผู้ป่วยโควิด ถ้าหากจำเป็นยังมีพื้นที่ที่ขยับขยายได้แต่ไม่อยากให้ต้องขยายเพราะจะเป็นอันตรายหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบนวัตกรรมที่นอนยางพารา จำนวน 1,000 ชุด เพื่อมอบให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามและพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยที่นอนยางพาราดังกล่าวสามารถระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมฝุ่น แบคทีเรียและเชื้อโรค สะดวกต่อการทำความสะอาด เป็นงานต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพารา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน