89 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. Constitution and Parliament พรรคพลังชี้ แก้ไขระบบเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 15.30 น.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนคอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายชัยพัชญ์ โชติชัยธนเสฐ โฆษกพรรค กล่าวว่า การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า “คณะราษฏร์”โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมีระบบรัฐสภา Parliament ตามโครงสร้างอำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ตามทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจการปกครองของมองเตสกิเออ นักปรัชญาการเมือง เจตจำนงปกครองของประชาชนเพื่อประชาชนโดยประชาชน ซึ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม(ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะราษฏร์ต้องการสร้างความเจริญของบ้านเมือง ตามเสาหลัก 6 ประการ คือ 1. เอกราช 2.เศรษฐกิจ 3.ปลอดภัย 4.เสมอภาค 5.เสรีภาพ 6.การศึกษา ซึ่งตัวแปรสำคัญปัจจัยที่ทำให้เกิดการ “อภิวัฒน์สยาม” แบ่งแยกพิจารณา ดังนี้


ปัจจัยด้านสถาบันการเมือง ที่มีการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารราชการแผ่นดินล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ บวกกับความไม่ยุติธรรมในระบบราชการ

ปัจจัยด้านอุดมการณ์ ที่มีการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ทำให้สามัญชนเกิดจิตสำนึกตื่นตัว และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน ซึ่งท้าทายอุดมการณ์แบบจารีตที่เน้นชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น

ปัจจัยด้านการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ที่มีการเติบโตของชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนใน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และวิชาชีพสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มคนใหม่ๆ เหล่านี้มาพร้อมกับจิตสำนึกใฝ่หาเสรีภาพ ความทันสมัย และความเสมอภาคเท่าเทียม

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ วิกฤติการคลังตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2472-2475 รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลและปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลายระลอก (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) ขึ้นภาษีรายได้กระทบคนชั้นกลางและราษฎร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนระดับล่าง จนเกิดกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาล

ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี

ผลกระทบหลังจากเกิดการ  “อภิวัฒน์สยาม”

ด้านการเมือง เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจ สถาปนาการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ อาทิ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาคมการเมือง กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ การเลือกตั้ง ฯลฯ ที่เปิดให้คนหน้าใหม่และสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจสาธารณะมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การขยายระบบราชการและปรับวิธีการทำงาน ทั้งยังมีการปฏิรูประบบกฎหมาย มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับต่างชาติ ทำให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์

ด้านสังคม มีการจัดระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ระบบคมนาคมที่ทันสมัยให้ครอบคลุมและเสมอภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลดำเนินบทบาทหน้าที่แบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พยายามจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะให้ถึงมือประชาชน เกิดการขยายตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และถนนหนทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ รัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการวางนโยบายและพัฒนาระบบการค้าและการลงทุนในภาคเกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เข้าไปจัดหางานและส่งเสริมอาชีพต่างๆ
ด้านวัฒนธรรมและความคิด เกิดการเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วัฒนธรรมการพิมพ์ ละคร และวัฒนธรรมที่อยู่นอกภาครัฐ เกิดการถกเถียงทางอุดมการณ์อันหลากหลายเข้มข้นทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐ มีทั้งแนวคิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ อนุรักษนิยม รอยัลลิสต์ สังคมนิยม รวมถึงชาตินิยมแบบต่างๆ แพร่หลาย เกิดพื้นที่ทางปัญญาและวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมาย ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ

นายวิสิทธิ์ ใสกระจ่าง รองโฆษกพรรคพลัง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม จนถึงรัฐธรรมนูญไทยฉบับ 6 เม.ย. 2560 เป็นวิวัฒนาการการเข้าสู่อำนาจทางรัฐสภาที่ย่ำอยู่กับที่หรือไม่อย่างไร? เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นว่า”คณะราษฎร”ได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ทางการเมืองการปกครองซึ่งขณะนั้นชาวสยามปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือพ่อผู้ครองแผ่นดินหรือพ่อปกครองลูก (ระบบกษัตริย์)ที่สืบทอดมาเป็นเวลา 700 ปี เปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรียกว่าการปฎิวัติการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสยาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ระบบรัฐสภาตามแนวทางชาติตะวันตก โดยในวันที่ 26 มิ.ย.2475 คณะราษฎรได้ทูลเกล้าพระราชบัญญัติธรรมนูญและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)ทรงลงพระปรมาภิไธย ในเช้า 27 มิ.ย. 2475 ทรงใช้เวลาตรวจสอบแค่คืนเดียวแล้วตราให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และอำนาจศาล ซึ่งในรายละเอียดอำนาจบริหารคืออำนาจคณะกรรมการราษฎร ประธานคณะกรรมการราษฎรคือนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการราษฎรคือคณะรัฐมนตรี นั่นเอง โดยยึดการบริหารตามหลัก 6 ประการคือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพและการศึกษา แต่ในทางปฏิบัตินั้นเมื่อกษัตริย์จะกระทำการใดๆต้องมีกรรมการราษฎรลงนามร่วมอย่างน้อย 1 คนตามมัติของคณะกรรมการราษฎรเห็นชอบ (มาตรา 7) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)ทรงสละพระราชอำนาจที่พึงมีเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2577 ใจความสำคัญในคำสละพระราชอำนาจตอนหนึ่งว่า “….ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร….”นั่นแสดงว่าอำนาจกษัตริย์ถูกริดรอนโดยคณะกรรมการราษฎรมาแม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธ.ค. 2475 แล้วก็ตาม ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินของคณะกรรมการราษฎรอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและตามพระราชประสงค์ของพระองค์จนเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีนักวิชการ บางท่านได้กล่าวว่าคณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม”หรือไม่ ที่รีบทำการปฏิวัติในครั้งนั้นทั้งๆที่พระมหากษัตริย์ทรงเตรียมจะพระราชทานอำนาจให้อยู่แล้ว

นางสาวศิรินทราภรณ์ บุญจันทร์ รองโฆษกพรรค กล่าวว่า การชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพราะเหตุการณ์เปลี่ยนเวลาเปลี่ยน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ประเด็นสำคัญผู้มีอำนาจสามารถบริหารราชการได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะสนองความต้องการของกลุ่มตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น รัฐธรรมนูญหลายๆฉบับไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อยแต่เกิดจากการช่วงชิงอำนาจกันไปมาเช่นรัฐธรรมนูญปี 2521,2534.และโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบและกำหนดโดยฝ่ายบริหารที่มาจากการปฎิวัติรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ไม่กำหนดว่าผู้นำ(นายกรัฐมนตรี)ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเพื่อความมั่นใจสุดๆคือให้อำนาจวุฒิสมาชิก (สว.)มีอำนาจเลือกนายกได้ด้วยตาม ม.272 ซึ่งตัวตนวุฒิสมาชิกก็มาจากผู้นำรัฐประหารนั่นเอง การวางยุทธศาสตร์ระยะยาวแบบไม่เคยมีปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อนการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวทุกด้านไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางการเมือง ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจไม่ว่ายามปกติหรือยามวิกฤติ ปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าการว่างงานของคนในชาติและปัญหายาเสพติดแพร่กระจายทุกภูมิภาค รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการบริหารขึ้นในสังคมอย่างมากมายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และอื่นๆอีกมากมาย แต่ไร้ซึ่งการตอบรับแถมมีการใส่คดีความให้ผู้ประท้วงไม่หยุดหย่อนไม่เว้นในแต่ละวัน ปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมหากปล่อยไว้เนิ่นนานยิ่งจะกัดกร่อนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล กอรปกับใกล้เวลาจะต้องมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปไม่เกินปีเศษๆหลังจากนี้ จึงทำให้รัฐบาลผุดความคิดแหกตาประชาชนและล่อลวงฝ่ายค้านไปในตัวด้วยคราวเดียวกัน นั่นคือผุดไอเดียการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยล้มกระดานมาแล้วโดยไม่แยแสถึงความรู้สึกของประชาชนแม้แต่น้อย

นายสะอาด หล้าแสง รองโฆษกพรรค กล่าวว่า ประเด็นการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะพูดเฉพาะของฝ่ายรัฐบาลไม่นับรวมของฝ่ายอื่นๆที่อาจหลงทางเข้าไปในวังวนของลับลวงพลาง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เสนอมี 5 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ
ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 3 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ
ประเด็นที่ 4 แก้ไขอุปสรรคในการทำงาน ส.ส.และส.ว.
ประเด็นที่ 5 อำนาจวุฒิสภา
ตามประเด็นต่างๆข้างต้น เจตจำนงหลักเพื่อแก้ไขระบบการเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงอำนาจ ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นเพียงคู่เทียบสับขาหลอก ลับลวงพราง เพราะเหตุที่ยังไม่ยุบสภาติดปัญหาข้อกฎหมายในการจัดทำไพรมารี่ขั้นต้นระดับเขตเลือกตั้ง ไม่สามารถแข่งขันให้เท่าเทียมกันได้ หากตรวจสอบที่ กกต.จะพบว่า หากใช้การจัดทำไพรมารี่โหวต แม้แต่พรรค พปชร.ยังไม่สามารถส่งสู้ศึกเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งได้ นี่คือ ปัญหาการออกแบบในระบอบประธานาธิบดีมาใช้กับระบบรัฐสภา ให้ยึดโยงกับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างยาก ในส่วนการออกแบบบัตร 2 ใบ สูตร 400+100 ย้อนกลับไปแบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพ ทำให้เห็นว่า การรัฐประหารที่ผ่านมาเสียของ เพราะการใช้รูปแบบเดิมพรรคการเมืองขนาดเล็ก ขนาดจิ๋วหรือ สส.ปัดเศษ หายไปจากสารบบพรรคการเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แนวคิดให้ทุกเสียงไม่ตกน้ำ จะหายไปกับสายลม ดังนั้น 89 ปี ประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้า ยังตกหลุมแย่งชิงอำนาจ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญนิยมยังไม่เป็นประชาธิปไตย ควรสร้างกติกาให้เป็นธรรมเน้นประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านมายังเป็นเพียงนามธรรม ประชาธิปไตยแบบไทยๆยังย่ำอยู่กับที่เดิม!!!!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *