ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมทีมวิจัยจากสถาบันฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการการใช้สมุนไพรประสิทธิภาพสูงในการต้านเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยดำเนินทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพร จำนวน 23 ชนิด ที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์ ผลการทดสอบพบว่าสามารถคัดเลือกสารสกัดจากสมุนไพร จำนวน 8 ชนิด ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 70 ในการต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในสุกรซึ่งมีโครงสร้างอนุภาคคล้ายกับ SARS-CoV-2 ที่เวลาทดสอบการสัมผัสเชื้อไวรัสเพียง 5 นาที และการทดสอบในระดับเซลล์ไลน์พบอีกด้วยว่าสารสกัดบางชนิดฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และบางชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยกระตุ้นการสร้างanti-inflammatory cytokines IL-10 mRNA มากขึ้น การวิเคราะห์องค์ประกอบของสมุนไพรเบื้องต้นด้วย Fourier Transform Infrared Spectroscopy พบว่าศึกษาสมุนไพรทั้ง 8 ชนิด มีองค์ประกอบของสารในกลุ่มเทอร์พีนอยด์เป็นหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ กล่าวอีกว่า งานวิจัยตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพของสมุนไพร 8 ชนิดที่คัดเลือก นำไปทดสอบโดยตรงกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด19 โดยภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์ตรวจคัดกรองและเพาะเลี้ยงไวรัสSARS-CoV-2 ที่มีห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (Bio Safety Level 3; BSL-3) จึงมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการทดสอบประสิทธิภาพของยาหรือสารสกัดสมุนไพร ในการยับยั้งการเจริญของไวรัส การตรวจหาค่าความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง (cell cytotoxicity) ในระดับหลอดทดลอง (in vitro assay)
เมื่อทำการคัดเลือกสมุนไพรที่มีฤทธิ์การต้านเชื้อไวรัสสูงสุดได้แล้ว ทางทีมวิจัย จะทำการศึกษากลไกของสมุนไพรในการต้านเชื้อไวรัส โดย ศาสตราจารย์.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มทส. กล่าวว่า การไขความลับนั้น ส่วนนึงสามารถทำได้ด้วยการถอดรหัสการแสดงออกของเซลล์ที่ได้รับสมุนไพรในระดับยีนส์(Transcriptome) และ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช เสริมว่า เทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูงประกอบด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีโอมิกส์ (โปรติโอมิกส์และเมตาโบโลมิกส์) จะให้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นข้อมูลแบบองค์รวมของการติดตามเปลี่ยนแปลงสารชีวเคมีภายระดับเซลล์ทั้งหมดทั้งโปรตีนและสารโมเลกุลขนาดเล็กภายในเซลล์ ทำให้เกิดความเข้าใจในกลไก หน้าที่ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสารชีวโมเลกุลเหล่านั้น และที่สำคัญคือข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาการใช้ยาสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและแม่นยำ นำสู่ความปลอดภัยในการใช้งานจริง และเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ในอนาคตต่อไป