เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล เลขานุการ รมว.อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผช.รมว.อว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมพื้นที่ติดตั้งนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ โรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมส่งมอบนวัตกรรมทางด้านการแพทย์แก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รองปลัด สธ. พร้อมด้วย นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ. และ ผอ.โรงพยาบาลบุษราคัมให้การต้อนรับ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตั้งใจมาให้กำลังใจ สธ. และบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ รพ.บุษราคัม ถือเป็น รพ.สนามขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 3,600 เตียง อย่างประเทศจีนในช่วงที่มีระบาดอย่างหนัก ใช้เวลากว่า 10 วันกว่าจะก่อสร้าง รพ.สนามให้แล้วเสร็จ แต่ไทยสามารถดัดแปลงหอประชุมมาเป็น รพ.สนามได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องก่อสร้างใหม่
รมว.อว. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด – 19 ที่เราเจออยู่นี้ คือ การดิสรัปชั่น (Disruption ) ด้านการสาธารณสุขที่ประสบพบเจอไปทั่วโลก และใช้เวลายาวนานที่กว่าที่แต่ละประเทศจะเริ่มบริหารจัดการได้ จึงขอชื่นชม สธ. ที่พัฒนาระบบสาธารณสุขไทยในรอบ 50 ปีนี้ก้าวหน้าไปอย่างมาก และอยู่แถวหน้าในระดับโลกได้ ทำให้การต่อสู้ในสงครามโควิดจากที่เราเคยเป็นฝ่ายรับในช่วงแรก ตอนนี้เราอยู่ในช่วงยันแล้ว จนสถานการณ์โควิดของไทยเริ่มคงที่ ตัวเลขคนหายป่วยกลับบ้านเริ่มมากกว่าคนติดเชื้อใหม่ ตนเชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็จะสามารถบริหารจัดการให้เข้าสู่ภาวะปกติได้
“อว.เป็นแนวหลังที่พร้อมสนับสนุน สธ. อย่างเต็มที่ ทั้งการพัฒนานวัตกรรมห้อง icu ความดันลบเคลื่อนที่ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งในวิกฤติเราก็สามารถพัฒนาศักยภาพด้านนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว ผลิตออกมาใช้ได้ทันการณ์ และอยากจะบอกข่าวดีว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะปลดล็อกหรือให้ข้อยกเว้น ปรับระบบราชการ กฎหมาย ระบบยุติธรรมให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่ารัฐบาลกำลังทำงานอย่างเต็มที่ และสู้ไปด้วยกัน เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้” รมว.อว.กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวว่า นวัตกรรมที่ วช.ให้ทุนสนับสนุนสามารถพัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในการรับมือโควิด-19 เป็นความภาคภูมิใจที่นวัตกรรมดังกล่าวผลิตได้ด้วยฝีมือของคนไทย มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ในขณะที่คุณภาพและมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่ากัน นอกจากนี้ วช. ยังได้นำนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) จำนวน 20 ชุด พร้อมทั้งหน้ากากอนามัยชนิด KN95 จำนวน 1,000 ชิ้น และหน้ากากอนามัย N-Breeze จำนวน 20,000 ชิ้น มามอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อนำไปใช้รับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่สำหรับติดตั้งในโรงพยาบาลบุษราคัม เป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข โดย วช. เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เกณฑ์สีเหลือง-แดง ติดตั้งง่ายและเคลื่อนย้ายสะดวก ระบบสามารถทำงานเองได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงรายงานประสิทธิภาพการใช้งานของห้องไอซียูแต่ละยูนิตได้ด้วย เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบห้องเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับประสิทธิภาพของไอซียูความดันลบเคลื่อนที่ เป็นห้องสำเร็จรูป ขนาด 3 × 6.5 เมตร / ยูนิต พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับผู้ป่วย และห้องสำหรับผู้ดูแล มีระบบคอมพิวเตอร์คอยควบคุม แต่ละห้องมีระบบปรับอากาศ มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ เพื่อให้ห้องทั้งผู้ป่วยและห้องเฉลียง มีความดันที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทั้งในกรณีที่มีการเปิดปิดประตูในแต่ละห้อง หรือมีการเปลี่ยนแปลงแรงดันภายในห้องจากกรณีอื่น ๆ มีระบบดูดอากาศ และกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อมั่นใจได้ว่าอากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนจะไม่ไหลออกมาสู่ภายนอก