วช.ผนึก ม.ศิลปากร ส่งมอบงานวิจัย ผลักดัน จ.เพชรบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์

วันที่ 23 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดกิจกรรมส่งมอบผลการดำเนินงานการวิจัยในการนำไปใช้ประโยชน์ของจังหวัดเพชรบุรี และการเปิดนิทรรศการ “ผลการวิจัยชุมชนต้นแบบจังหวัดเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้รับมอบ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผศ.ดร.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ส่งมอบ พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยงแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี และรองศาสตราจารย์ประสพชัย พสุนนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย ให้เกียรติเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมรอยัลไดมอน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พร้อมเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบ และศูนย์ให้บริการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “ วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่โครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะ ส่งผลสำเร็จของโครงการวิจัยที่จะส่งมอบในวันนี้ ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ถือเป็นโครงการหนึ่งที่สนับสนุนงานของ วช. ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาในระดับพื้นที่จังหวัดที่ สะท้อนผลสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยงานภาคปฏิบัติ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ องค์กร ชุมชน และภาคประชาสังคม นับเป็นการเชื่อมร้อย เชื่อมต่องานพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ และ คาดหวังว่าผลจากงานวิจัย จะสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ได้ทุกภาคส่วน ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดเพชรบุรีต่อไปได้ ”

ด้วยเสน่ห์ของจังหวัดเพชรบุรี ที่มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร กระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม ที่บ่งบอกเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย เรื่อง “การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อยกระดับจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์” ของ รศ.ดร.ประสพชัย พสุนันท์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ ซึ่งผลงานวิจัยสามารถตอบสนองการพัฒนายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์จังหวัดเพชรบุรีได้เป็นอย่างดี ภายใต้ 8 กิจกรรมหลัก อาทิ ยุทธศาสตร์เมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ศิลปะประยุกต์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและเยาวชนสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ อาหารผสานศิลป์: สำรับเมืองเพ็ชร์และนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น

คณะนักวิจัย ได้ดำเนินการวิจัย ในชุมชนเป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนซอยตลาดริมน้ำ และชุมชนวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรีสามารถนำงานวิจัยไปใช้เป็นกรอบในการปรับยุทธศาสตร์หลักของจังหวัด ในการตอบสนองภารกิจเร่งด่วนในการเสนอตัวและเข้าสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO
ด้านวิทยาการอาหาร Creative City of Gastronomy อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดไปสู่ระดับสากล โดยจังหวัดเพชรบุรีติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากที่สุด
แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะกระจุกตัวอยู่ที่ อำเภอชะอำ จึงมีแนวคิดว่าจะทำให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยวสู่พื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามคติพจน์ที่ว่า “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน สร้างคุณค่าสู่อนาคต”
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวตามบรรทัดฐานใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกและปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นจุดเช็คอินในชุมชนเมืองเก่ามากขึ้น และมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และจะสร้างจุดถ่ายจุดใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดเพชรบุรี โดยเป้าหมายของโครงการวิจัยที่จะสร้างอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมให้แก่ชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้านและพร้อมต้อนรับผู้คน ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถเป็นนักเล่าเรื่อง นักสื่อความหมายหรือนำเที่ยวได้ เพราะสามารถอธิบายถึงวิถีชีวิต อาหาร ร้านอาหาร วิถีการกินที่มีอยู่ในชุมชน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วิถีดั้งเดิมของชุมชน

พร้อมกันนี้ ดร.วิภารัตน์ฯ และคณะผู้บริหาร ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “ชุมชนต้นแบบจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์” และ”ศูนย์ให้บริการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน” โดย วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยจะสามารถผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *