วช. หนุน มรภ.สุรินทร์ ดัน “ถนนสายไหม” ชุมชนท่องเที่ยวผ้าไหมทอมือ บ้านสวาย จ.สุรินทร์ ยกระดับภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จ โครงการวิจัยเรื่อง “โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายวิโรจน์ กองสนั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย พร้อมด้วยคณะนักวิจัย และชาวบ้านในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์โอทอปตำบลสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในการดำเนินงาน “โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งมี ดร.ศิวาพร พยัคฆนันท์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยโครงการดังกล่าวนำไปสู่การผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์และขยายผลสู่วงกว้างจากองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงรุก ยกระดับภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG ผลักดันพื้นที่ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการวิจัยนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ได้ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ตำบลสวายต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว การดำเนินการวิจัยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งต้องขอขอบพระคุณสำหรับการทำงานร่วมกัน ผลลัพธ์และความสำเร็จของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสวายเท่านั้น แต่คาดหวังว่าผลการวิจัยจะถูกนำไปถ่ายทอดและใช้ประโยชน์กับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ด้วย

นายวิโรจน์ กองสนั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย กล่าวว่า ในนามตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวตำบลสวายต้องขอขอบพระคุณทาง วช. และคณะทีมงานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่ได้นำโครงการดี ๆ มาสานต่อความเป็นพื้นถิ่นด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวายเพื่อผลักดันให้เกิดความโดดเด่นทางด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงชุมชน ประชาชนได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ระดับครัวเรือน อบต.สวายและประชาชนตำบลสวายมีความตั้งมั่นและยินดีที่จะสานต่อโครงการนี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับประชาชนในพื้นที่และจะร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในตำบลสวายให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและเป็นแนวหน้าเมืองแห่งการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ต่อไป

ดร.ศิวาพร พยัคฆนันท์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนสวาย ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยมีภูมิปัญญาที่สืบทอดจนเป็นกิจกรรมที่อยู่ในวิถีชุมชน และมีวิถีการทอผ้าไหมทอมือกี่โบราณ มีจำนวนครัวเรือนกว่า 1,500 ครัวเรือนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทอผ้าไหม ผลงานเอกลักษณ์ของชุมชนคือ ผ้าไหมมัดหมี่ทอยกดอก 6 ตะกอ โดยเกิดจากความบรรจงในการมัดหมี่เป็นผ้าหลายร้อยลวดลายรวมกับเทคนิคการยกดอกและเพิ่มความประณีตด้วยการเก็บริมผ้า ทำให้ผ้าไหมชุมชนสวายเป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก โดดเด่นด้านความสวยงามและคุณภาพจากวิถีวัฒนธรรมช่างทอได้พัฒนาเป็น “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ร่วมจัดการท่องเที่ยวโดยเครือข่ายช่างทอ ผ่านโครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG ที่ วช. ให้การสนับสนุน ได้ช่วยขับเคลื่อนและยกระดับภูมิปัญญาของท้องถิ่นและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG สามารถผลักดันพื้นที่ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ภายในงาน คณะนักวิจัยได้นำผู้บริหารและผู้ทรงคุณ วช. เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากเครือข่ายช่างทอกลุ่มถนนสายไหม เครือข่ายช่างทอ กลุ่มวิสาหกิจตลาดไหมใต้ถุนเรือน กลุ่มเรือนร้อยไหม กลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย กลุ่มอารยธรรมไหมสวาย และโรงเรียนช่างทอใต้ถุนเรือน ซึ่งเป็นเครือข่ายช่างทอที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มกิจการเพื่อสังคม โครงการดังกล่าวได้ทำให้คนในชุมชนเกิดความรักความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาโบราณที่ได้รับการสืบทอด กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้วิถีวัฒนรรมช่างทอคงอยู่ในชุมชนสวายตราบนานเท่านาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *