เมื่อวันที่ 10 และวันที่ 11 สิงหาคม 2566 มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมกล่าวปิดโครงการฯ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งสาธารณะ และสถานประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการซื้อขายคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสของโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดโอกาศให้น้องๆ นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยภาครัฐและเอกชนทั้ง 8 หน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการครั้งนี้ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด
คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 มีเยาวชน นิสิตนักศึกษในระดับปริญญาตรีขึ้นไป สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 13 ทีม และมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
- รางวัล ชนะเลิศ ทุนการศึกษา 200,000 บาท ได้แก่ ทีม Greenie จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทุนการศึกษา 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Carbonzero จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Chestnut จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ ทีม CC Da Rock!!! จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม
- รางวัลชมเชย มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท 3 รางวัล ได้แก่ 1) ทีม Deviate จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 2) ทีม Viridis จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) ทีม Steve จาก มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ภายในงานนี้ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนจัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานเอกชน ในการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กได้มีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ดังนี้ บริษัท เอสโคโพลิส จำกัด, บริษัท เคเชอร์ เพย์เมนท์ จำกัด และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด ในการขยายช่องทางการซื้อคาร์บอนเครดิตรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้มีโอกาสส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Green Tourism ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตพร้อมกับการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ เพื่อชดเชยจำนวนคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าพักในโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งบจก.เอสโคโพลิส เป็นโบรกเกอร์ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์ม FTIX โดยมีพันธกิจมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส่ในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปชดเชยได้ตามวัตถุประสงค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Net Zero