บพช.จับมือ 10 หน่วยงาน ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โชว์ 3 ปี 11 แพลตฟอร์ม

บพข. จับมือ 10 หน่วยงาน ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงลึกสู่เชิงพาณิชย์ โชว์ความสำเร็จ 3 ปี สร้าง 11 แพลตฟอร์มเร่งรัดฯ ปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพ-สร้างนวัตกรรมใหม่กว่า 100 รายการ


บพข. จับมือ 10 หน่วยงาน เร่งผลักดันงานวิจัยเชิงลึกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมโชว์ตัวอย่างความสำเร็จ 3 ปีที่ผ่านมา สร้าง 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยฯ เชิงลึก ปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมใหม่ที่จดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ คาดผลิตภัณฑ์และบริการจาก 11 แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า


22 ก.ย. 66 ณ โรงแรมพูลแมนกรุงเทพ จี ถ.สีลม.กรุงเทพฯ – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ 10 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม “ พิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ (Memorandum of Intent: MOI) ระหว่าง บพข. กับ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerators) เพื่อเร่งรัดนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์”
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่ม Deep Science and Tech Accelerator Platform ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมหน่วยงานวิจัยของภาครัฐและเอกชนในการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยเน้นการพัฒนา ถ่ายทอดการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการขยายธุรกิจ เกิดผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้
โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บพข. ได้มีความร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัย และ สวทช. จนเกิดเป็น 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ 11 Accelerator Platforms ที่สามารถ
นำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้ โดยผลงานที่เกิดขึ้นเป็นเทคโนโลยี เชิงลึก ทั้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีอาหารมูลค่าสูง และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที (IoT) ขั้นสูง ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ มีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ อีกทั้งยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีเชิงลึกจาก 11 Accelerator Platforms จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า


ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า บพข. โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือกองทุน ววน. นั้น มุ่งส่งเสริมขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology) เพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่เริ่มต้นจากระดับความพร้อมของเทคโนโลยี หรือ Technology level readiness (TRL) อย่างน้อยระดับ 4 ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา และยังขาดระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation management system) และกระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด (Accelerator) ให้กับนักวิจัย ให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ
“บพข. ซึ่งถือเป็นตัวกลางเชื่อมโยงร่วมกับ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก

จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ (Memorandum of Intent: MOI) ระหว่าง บพข. กับ 11 หน่วยงานดังกล่าวขึ้น เพื่อเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มีการแบ่งปันทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ บริการเชิงพาณิชย์ แหล่งฝึกอบรมบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างธุรกิจได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม”
ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าว ยังมีบรรยายพิเศษจาก “ดร.วิไลพร เจตนจันทร์” ประธานอนุกรรมการแผนงาน Deep Science and Technology Acceleration Platform บพข. และการเสวนาในหัวข้อ “จากดินสู่ดวงดาว ปั้นได้อย่างไร” โดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเชิงลึกของไทย
นอกจากนี้ยังมีการนำผลงานตัวอย่างความสำเร็จจาก 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกมาจัดแสดง อาทิ ความสำเร็จจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเร่งใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (MIDAS Center) จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นอกจากจะผลิตชุดทดสอบทางการแพทย์ ที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วแล้วยังสามารถผลิตแขนเทียมเพื่อการฝึกปฏิบัติการเจาะเลือดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้ซิลิโคนที่ทดสอบแล้วว่าเหมือนแขนมนุษย์มากที่สุด และต้นทุนต่ำกว่าท้องตลาดถึง 10 เท่า ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหิดลยังมี แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สำหรับนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart Living) โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ซึ่งมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนทุนในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเตรียมออกสู่ตลาด เช่น การผลิตแผ่นกั้นเสียงสำหรับงานจราจร การพัฒนาสารสกัดกระชายในการยับยั้งแบคทีเรีย และการผลิตแผ่นรองนอนต้านแบคทีเรียสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและป้องกันแผลกดทับ

สำหรับ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านอุปกรณ์ดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพการแพทย์ได้ในหลายโครงการ อาทิ ระบบติดตามในอุตสาหกรรมปศุสัตว์โคนม ปัญญาประดิษฐ์สำหรับงานเวชระเบียน และระบบปัญญาประดิษฐ์การอ่านภาษาไทยด้วยภาพ หรือนวัตกรรมการแพทย์ เช่น นวัตกรรมแผ่นแปะเข็มระดับ ไมโครชนิดละลายน้ำได้ รวมทั้งการบ่มเพาะสตาร์อัพทางการแพทย์ เช่น บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม หรือ บริษัทแนบโซลูท เป็นต้น ส่วนแพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (FOREFOOD) เมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. สามารถบ่มเพาะให้เกิดสตาร์ทอัพ ได้ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงลึกด้านอาหาร อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ และระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ไม่ต่ำกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดสำเร็จ อาทิ โปรตีนทางเลือกจากแมลง เส้นไข่ขาว ไร้แป้ง ไร้ไขมัน เจ้าแรกของไทย สารทดแทนไข่ ผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนนมวัว


ด้าน แพลตฟอร์มเร่งการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือ Organic Tech Accelerator platform (OTAP) จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถบ่มเพาะ 8 ธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการทดสอบการตลาด การออกแบบต้นแบบ อาทิ ดิจิทัลแคตตาล็อก สำหรับทดลองสวมใส่เครื่องประดับสามมิติ เครื่องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ gamified application สำหรับบริหารการเงินเพื่อ Gen Z โดยเฉพาะ ขณะที่มหาวิทยาลัยสุรนารี มีแพลตฟอร์มบ่มเพาะและเร่งสร้างเติบโตนวัตกรรมเชิงลึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (SUT Horizon) ผลักดันให้เกิดต้นแบบ และผลผลิตทางเทคโนโลยี โดยร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในหลายโครงการ อาทิ เทคโนโลยีอากาศยานไร้นักบินปรับทิศแรงขับดันสำหรับสำรวจถนน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ATV ขนของภายในโรงพยาบาล และปัญญาประดิษฐ์สำหรับระบบแพทย์ระยะไกลในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุ


ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีนำร่อง ระดับ TRL 4 ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ สารสกัดพืชเชิงพาณิชย์ด้านเวชสำอางเพื่อยับยั้งการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง และการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งและพฤติกรรมในอาคารเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ North Bangkok Robotic Accelerator (NB RAP) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการผลักดันนวัตกรรมเชิงลึกออกสู่ตลาด และมีความร่วมมือกับภาคเอกชน นำร่องนวัตกรรม ด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน อาทิ การบริหารจัดการผ้าในโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีระบบอาร์เอฟไอดี (ลินินแทรคเกอร์) แผนดำเนินการธุรกิจหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติ
และศูนย์เร่งการจัดการนวัตกรรม เทคโนโลยีและการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พัฒนารูปแบบ Holding Company โดยมี 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบมือถือด้วยเซนเซอร์หลากหลาย ชุดตรวจภูมิแพ้อย่างรวดเร็ว ชุดตรวจสอบไนโตรฟูแรนหรือยาปฏิชีวนะยับยั้งแบคทีเรียในสัตว์น้ำ และ โดมแสงธรรมชาติป้องกันรังสีตรงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในอาคาร
อย่างไรก็ดีในปี 2565 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มการเร่งรัดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน ดิจิทัล โรบอติกส์ และระบบอัจฉริยะ รวมไปถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพ เกษตรอาหาร และระบบการผลิตระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย
ดร.ธงชัย กล่าวสรุปว่าหัวใจสำคัญของการทำงานของ บพข. คือการพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนผู้ประกอบการ SME และ Startup จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ให้สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ บพข. ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพังหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ตามที่วางไว้ ด้วยพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งใน กระทรวง อว. เอง และหน่วยงานภายนอกกระทรวง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *