กระทรวงเกษตรฯรายงานสถานการณ์การผลิตพืช ปศุสัตว์และประมงล่าสุดมั่นใจเพียงพอไม่ขาดแคลน “เฉลิมชัย”เน้นเทคโนโลยีออนไลน์บริหารและบริการประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด19


อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายบรรจง จำนงศิติธรรม รองอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ร่วมกันแถลงข่าว เรื่องผลผลิตด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัส COVID-19 ที่อาจก่อให้เกิดความวิตกว่าผลผลิตการเกษตรจะขาดแคลน นั้น อลงกรณ์ พลบุตร กล่าวให้ความมั่นใจว่าในการจัดการห่วงโซ่ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรปี2563ภายใต้ภาวะฉุกเฉินนี้จะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังมีศักยภาพบางส่วนในการส่งออก ซึ่งในปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน และอันดับที่12ของโลกทั้งนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประมาณการผลิตปี 2563 ทั้งพืช ปศุสัตว์และประมงดังนี้
ข้าว มีการผลิตทั้งหมด 28 ล้านตันข้าวเปลือก มีความต้องการภายในประเทศ 12 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น ร้อยละ 42 ของกำลังการผลิต จึงเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ การส่งออก และเก็บเป็นพันธุ์ข้าวสำหรับการเพาะปลูกต่อไป
สินค้าด้านประมง มีปริมาณการผลิต 2.7 ล้านตันต่อปี โดยเป็นผลผลิตที่จับจากทะเล 1.6 ล้านตัน จับจากแหล่งน้ำจืด 1.8 แสนตัน ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงในน้ำจืด 4 แสนตัน จากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 3.7 แสนตัน จากการเพาะเลี้ยงหอยทะเล 44,000 ตัน จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอีก 4 แสนตัน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนปล่อยพันธุ์เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำชุมชนกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศกว่า 300 ล้านตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตจากการจับจากทะเลที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดทุกวัน โดยเฉลี่ย 22,000 ตันต่อวัน สินค้าด้านปศุสัตว์ ไก่เนื้อ มีกำลังการผลิต 2.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 1.8 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 62 ของกำลังการผลิต ไข่ไก่ มีกำลังการผลิต 15,000 ล้านฟองต่อปี ซึ่งใช้บริโภคในประเทศกว่าร้อยละ 98 ซึ่งยืนยันว่ามีเพียงพอ โดยสามารถผลิตได้วันละ 41 ล้านฟอง บริโภคในประเทศ 40 ล้านฟอง และส่งออก 1 ล้านฟอง โดยในช่วงฤดูร้อนซึ่งส่งผลให้แม่ไก่ออกไข่น้อยกว่าปกติ ก็ยังมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และขอความร่วมมืออย่าตื่นตระหนักงดการกักตุนมิฉะนั้นจะมีผู้ฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควรซึ่งต้องช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดี สำหรับราคาหน้าฟาร์มขณะนี้อยู่ฟองละ 2.8 บาท สุกรเนื้อ มีกำลังการผลิต 1.68 ล้านตันเพื่อบริโภคภายในประเทศร้อยละ 92 ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ สินค้าด้านพืช ปาล์มน้ำมัน สำหรับการผลิตน้ำมันพืชสำหรับบริโภค ไทยมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบกว่า 3.5 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณการใช้ 3.3 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ ทั้งการทำน้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ และการนำไปใช้เป็นพืชพลังงาน มะพร้าว สำหรับกะทิ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ซึ่งมีกำลังการผลิตในประเทศ 8.4 แสนตัน มีความต้องการ 1 ล้านตัน โดยนำเข้ามาบางส่วน โดยในระยะสั้นและกลาง ซึ่งในขณะนี้ใกล้ช่วงผลผลิตมะพร้าวออกสู่ตลาด จึงทำให้ไม่เกิดการขาดแคลนมะพร้าว อ้อยไทยสามารถผลผลิตอ้อยได้กว่า 111 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 12 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศ 2.6 ล้านตัน จึงเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกและแปนรูป ซึ่งขณะนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกและยังมีบางส่วนที่สามารถนำไปผลิต เอทานอล ซึ่งนำไปใช้ในแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หรือเจลล้างมือ เพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 และการผลิตแก็สโซฮอลซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิง มันสำปะหลัง คาดการณ์ว่ามีปริมาณการผลิตหัวมันสดกว่า 29.4 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นมันเส้น แป้งมัน มันอัดเม็ด และผลิต เอทานอล ได้ 11.7 ล้านตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีกำลังการผลิตกว่า 4.93 ล้านตัน มีความต้องการใช้ประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการนำเข้ามา เพราะเป็นต้นน้ำในการเลี้ยงสัตว์ ในสถานการณ์ที่โควิด19ระบาดไปทั่วโลกและยังประเมินไม่ได้ว่าจะทอดเวลายาวนานเท่าใดนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการผลิตภาคเกษตรกับการส่งออกจะต้องไม่ให้เกิดการขาดแคลนในทุกผลผลิตการเกษตรและอาหารสำหรับการบริโภคภายในประเทศตลอดจนปัญหาด้านแรงงานต่างด้าวที่อาจขาดแคลนในกิจการประมงและภาคเกษตรอื่นๆรวมทั้งการขนส่งโลจิสติกส์ที่อาจมีปัญหาซึ่ง3ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้สั่งการให้ใช้การบริหารและการบริการออนไลน์( Online platform )ในทุกหน่วยงานเพื่อบริการประชาชนรวมทั้งระบบการออกใบอนุญาตต่างๆเพื่อการผลิตการค้าทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการ มกอช. และมอบหมายให้สศก.ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ภาคเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *