กับ นายทาโระ ชิมาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัลของโตชิบา
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่าง การประมวลผลเชิงควอนตัม (Quantum Computing) มาพร้อมข้อขัดแย้งสุดแสนคลาสสิค คือ มีทั้ง “ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย”
ข่าวดีคือ เนื่องจากในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักฟิสิกส์ทั่วโลก รวมถึงทีมนักพัฒนาของโตชิบา กำลังเข้าใกล้ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลเชิงควอนตัมเข้าไปทุกที เราก็ยิ่งใกล้เข้าสู่ยุคที่สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีด้วยเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์
ส่วนข่าวร้ายก็คือ เทคโนโลยีการประมวลผลเชิงควอนตัม ซึ่งสามารถคำนวณผลได้ด้วยความเร็วสูงขนาดนี้ หมายความว่า อัลกอริทึมเข้ารหัสข้อมูลสาธารณะที่ซับซ้อนและไม่อาจแฮ็กได้ (ในปัจจุบัน) อาจเสี่ยงต่อการถูกโจมตีโดยอาชญากรในโลกไซเบอร์ได้
โดยผู้สังเกตการณ์หลายท่าน อย่างเช่น รองประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล โตชิบา คอร์ปอเรชั่น นายทาโระ ชิมาดะ เชื่อว่าบรรดาแฮ็กเกอร์ได้เริ่มใช้กลยุทธ์ “เก็บเกี่ยวและถอดรหัส” กันแล้ว โดยพวกเขาจะทำการขโมยข้อมูล ขณะที่รอเวลาให้การประมวลผลเชิงควอนตัมถูกนำมาใช้งานอย่างเป็นทางการ จากนั้นจึงวางแผนถอดรหัส ซึ่งจะทำให้ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ทั้งข้อมูลด้านการเงิน สุขภาพ และการทหาร อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง
โชคดีที่ นายชิมาดะ รวมถึงหัวหน้าทีมโตชิบาท่านอื่น ๆ ไม่เพียงแค่พุ่งความสนใจไปที่โอกาสทางธุรกิจที่การประมวลผลเชิงควอนตัม จะสร้างให้ทั้งสำหรับบริษัท และสำหรับลูกค้า แต่ยังหันเหความสนใจไปจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้งานจริง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในไม่เกินช่วงทศวรรษนี้ โดยโตชิบาได้กำลังพัฒนา และจะเปิดตัวเทคโนโลยีระบบการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum Key Distribution: QKD) ซึ่งจะทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้การเข้ารหัสบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไฟเบอร์-ออปติกได้
เพื่อทำความเข้าใจถึงการวางตำแหน่งทางการตลาดของโตชิบาเมื่อพูดถึง QKD นายชิมาดะได้เปิดเผยข้อมูลและข้อสังเกตเชิงลึก ถึงความน่าตื่นเต้นและความวิตกกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีการประมวลผลเชิงควอนตัม
คุณให้คำจำกัดความของ การกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum Key Distribution: QKD) ว่าอย่างไร? และมันมีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
QKD คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีใครจะสามารถขโมยข้อมูลสำคัญของคุณผ่านเครือข่ายออนไลน์ใด ๆ ได้
วิธีการและเทคนิคการเข้ารหัสที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยทันทีที่ การประมวลผลเชิงควอนตัม ถูกนำมาใช้งานจริง ที่จริงพวกอาชญากรไซเบอร์ได้ทำการขโมยข้อมูลกันอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยนำข้อมูลมาเก็บรักษาไว้ เพื่อรอเวลาที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะเริ่มใช้งาน ดังนั้น องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ต่างต้องเตรียมการรับมือให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลของคุณมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์ในระยะยาว เช่น ผลงานการออกแบบที่มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ บันทึกการเงิน ไปจนถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอื่น ๆ
วิธีการเข้ารหัสในปัจจุบันนั้นยากมากที่จะถูกแฮ็กได้ เพราะมันใช้อัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ที่ยากต่อการคำนวณ แต่การประมวลผลเชิงควอนตัมจะทำให้สามารถคำนวณข้อมูลเหล่านี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อัลกอริทึมเข้ารหัสที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้อาจจะถูกแฮ็กได้ง่ายมากในอนาคตอันใกล้
QKD ทำงานอย่างไร?
เช่นเดียวกับการประมวลผลเชิงควอนตัม QKD เองก็ทำงานบนหลักการของกลศาสตร์ควอนตัมเช่นกัน นั่นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะ QKD มีระบบป้องกันวิธีการประมวลผลเชิงควอนตัม ที่ใช้ในการเข้าถึง จัดการ และสร้างข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลที่มีอยู่
ผมจะอธิบายอย่างนี้ ระบบการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม หรือ QKD คือรูปแบบหนึ่งของการเข้ารหัสเชิงควอนตัม ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งผ่านข้อมูลอย่างปลอดภัยระหว่างสองฝ่ายขึ้นไป ผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกความเร็วสูง โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้วิธีการนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การใช้โฟตอน ซึ่งเป็นอนุภาคของแสง เพื่อสร้าง “กุญแจ” รักษาความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูลที่ได้เข้ารหัสไว้ ซึ่งกุญแจที่ว่านี้จะถูกสร้างขึ้นแบบสุ่ม จึงปลอดภัยจากการถูกโจมตีโดยแฮ็กเกอร์ เนื่องจากการรบกวนใด ๆ จากบุคคลที่สามที่ไม่ได้รับอนุญาตจะทำให้องค์ประกอบของโฟตอนเปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้กุญแจที่สร้างขึ้นมาโดยการสุ่มนี้ใช้การไม่ได้
พูดง่าย ๆ ก็คือ อาชญากรจะไม่มีทางขโมยข้อมูลได้อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี QKD ของโตชิบา ยังสามารถตรวจจับได้ด้วยว่ามีใครกำลังแอบฟังหรือกำลังพยายามขโมยข้อมูลของคุณอยู่หรือเปล่า
คุณคงจินตนาการได้ว่า วิธีการนี้จะช่วยมอบความคุ้มครองจากการถูกแฮ็กได้ ซึ่งจะทำให้ QKD มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการประมวลผลเชิงควอนตัมในอนาคต
อุตสาหกรรมใดบ้างที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับโซลูชัน QKD ของโตชิบา?
มีอุตสาหกรรมจำนวนมาก และอีกหลากหลายกลุ่มตลาด ที่จะได้ประโยชน์จาก QKD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องการการเข้ารหัสหรือการรับรองความถูกต้องสำหรับข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูง หรือข้อความ และธุรกรรมที่มีความสำคัญ
หน่วยปฏิบัติการทางทหารหรือหน่วยสืบราชการลับของภาครัฐ สถาบันการเงิน สถานพยาบาล และบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา คือส่วนหนึ่งของบรรดาองค์กรมากมายที่จะต้องการใช้ประโยชน์จาก QKD นอกจากนี้ เทคโนโลยีเครือข่ายความเร็วสูง 5G ซึ่งกำลังถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็จะยิ่งเร่งความต้องการการคุ้มครองความปลอดภัยที่ว่านี้อีกด้วย
แน่นอน รัฐบาลในหลายประเทศ รวมถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต่างกำลังเตรียมความพร้อมรับมือกับทั้งโอกาสและความท้าทายจากเทคโนโลยี 5G นี้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติกองทุนเพื่อความปลอดภัยด้านการสื่อสารโทรคมนาคมพหุภาคีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการวิจัยที่จะช่วยเร่งให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์และเครือข่ายที่มีความปลอดภัย ซึ่งเราเองก็หวังว่าเทคโนโลยีการเข้ารหัสเชิงควอนตัมอย่าง QKD จะได้รับผลประโยชน์จากกองทุนที่ว่านี้ รวมถึงจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้
โตชิบาวางแผนทำการตลาดสำหรับ QKD ไว้อย่างไร?
โตชิบากำลังพัฒนาตัวเองสู่บริษัทที่ดำเนินการโดยเน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ผมคิดว่านี่คือกรอบการทำงานรูปแบบใหม่ของโตชิบา ซึ่งคู่แข่งของเรายังไม่มี
แต่คำถามคือ เราจะสามารถสร้างโมเดลธุรกิจสำหรับ QKD ที่นำไปใช้งานจริงได้หรือไม่? วิธีคลาสสิคที่เราใช้ดำเนินธุรกิจอยู่ในขณะนี้คือ การขายฮาร์ดแวร์ แต่มูลค่าที่แท้จริงของ QKD จะอยู่ที่กุญแจควอนตัม เราจึงต้องสร้างธุรกิจประเภทบริการขึ้นมาตอบโจทย์ เพราะคุณประโยชน์ของการรักษาความปลอดภัยข้อมูลจะอยู่ที่ฮาร์ดแวร์เพียง 10% ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่ซอฟต์แวร์ การบริการ และการบูรณาการ
ปีที่แล้ว โตชิบาได้ประกาศความร่วมมือกับ Quantum Xchange ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยี QKD ของโตชิบาในการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายควอนตัมแห่งแรกในอเมริกา คุณคิดว่าจะมีความร่วมมือในรูปแบบเดียวกันนี้อีกไหมในอนาคต?
แน่นอน การสร้างแพ็กเกจการบริการ เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากสำหรับเรา เราจะไม่เพียงแค่ดำเนินการจัดหาฮาร์ดแวร์ และให้บริการด้านการบำรุงรักษาเท่านั้น แต่เพราะเราเป็นเจ้าของเครื่อง QKD เราจะได้รับรายได้เป็นประจำทุกครั้งที่กุญแจเข้ารหัสถูกสร้างขึ้นระหว่างสองฝ่าย
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมมันจึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างพันธมิตรกับผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำ
นายทาโระ ชิมาดะ ได้ย้ายจากบริษัท Siemens K.K. มาทำงานที่โตชิบาในปี พ.ศ. 2561 เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการปฏิวัติทางดิจิทัลของโตชิบา โดยนายชิมาดะได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานยาวนานเกือบสามทศวรรษ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป ในหลากหลายสายงาน รวมถึงด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์ (ตั้งแต่อากาศยาน ยานพาหนะ ไปจนถึงการออกแบบเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง และอุตสาหกรรมหนัก) และซอฟต์แวร์การจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ในฐานะหนึ่งในสมาชิกทีมผู้บริหารของโตชิบา นายชิมาดะ ได้ร่วมก่อตั้งชุมชน ifLink Open Community ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถนำประสิทธิภาพในการทำงานของ IoT มาใช้กับแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานจริงที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังได้ร่วมเปิดตัวบริษัท โตชิบา ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (Toshiba Data Corporation) ซึ่งเขาจะเป็นผู้ดูแลเอง
ในด้านชีวิตส่วนตัว นายชิมาดะเป็นลูกชายของเจ้าของร้านขายของ พ่อของเขาจึงสนับสนุนให้ทำงานเป็นเซลส์แมน แต่นายชิมาดะกลับเลือกอาชีพวิศวกรแทน อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความรับผิดชอบของเขาในฐานะนักยุทธศาสตร์ดิจิทัล เขาจำเป็นต้องคอยมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ ดังเช่นที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ที่โตชิบา
“ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้วผมก็หนีไม่พ้นอาชีพเซลส์แมนอยู่ดี” เขาพูดกลั้วหัวเราะ