DU Forum “เปิดนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล” สถาบันคลังสมองของชาติจัดงานสัมมนา Digital University Forum “เปิดนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล”
เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา) จากการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” ที่ได้คำตอบอย่างชัดเจนแล้วว่า มหาวิทยาลัยไทยมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้เมื่อมีนิเวศดิจิทัลที่เหมาะสม งานนี้จึงจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดนิเวศ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง Share and Learn เพื่อจะสามารถผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่เป็นประโยชน์กับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ภายในงานได้เริ่มจากการกล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน โดย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ที่กล่าวว่า “งานนี้มหาวิทยาลัยจะเชื่อมต่อกับโลกได้ต้องปรับลดการทำงานแบบต่างคนต่างทำ (Silo) สร้างพื้นที่การเชื่อมต่อ โดยการเชื่อมต่อมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกับชุมชน มหาวิทยาลัยกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นการ “เชื่อมเพื่อใช้” ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ในนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยฉายภาพปลายทางของงานวิจัยนี้น่าจะเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำให้ได้ทราบว่าในส่วนนิเวศของมหาวิทยาลัยที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบควรจะมีอะไรบ้าง มีการกระตุ้น มีการสนับสนุน มีตัวอย่างที่ดี มีการจัดอบรม มีการทำความเข้าใจ และไปด้วยกัน ตรงนี้ก็เป็นในส่วนที่สถาบันคลังสมองทำได้” จากนั้นเป็นการให้มุมมองการพัฒนานิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดย อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ชวนมองการทำงานด้วยเฟรมเวิร์คที่เหมาะสม ร่วมกันตั้งเป้าหมาย เพื่อความสำเร็จและที่สำคัญชวนให้เกิดการเรียนรู้เครือข่ายในวงการศึกษาและภาคส่วนอุตสาหกรรมส่วนต่าง ๆ ร่วมกัน ถัดมาเป็นการบรรยายพิเศษ การขับเคลื่อนสู่งองค์กรดิจิทัลของมหาวิทยาลัยไทยในระบบนิเวศดิจิทัล โดย รศ. ดร.วรา วราวิทย์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Share and Learn : เปิดประตูสู่การสร้างความรู้จัก พัฒนาเครือข่ายนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่เปิดพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์และข้อเสนอแนะร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยดิจิทัลต้นแบบ โดย รศ. ดร.รัฐสิทธิ์ สุขหุต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และดร.วรรณพล ศุภสกุลดำรง ผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนาประสานงานโครงการและสื่อสารองค์กร สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ช่วงที่ 2 การเสนอภาพการขับเคลื่อนด้วยความพร้อม : ก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลในระดับภาคส่วน โดย ผศ. ดร.ก่อพร พันธุ์ยิ้ม คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ. ดร.ธัชชา สามพิมพ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช รศ. ดร.วรัญญา ปุณณวัฒน์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ อ.ธีรภัทร สุวรรณรุจิ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จากนั้นเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนมาเสนอมุมมอง ช่วงที่ 3 พันธมิตรนอกรั้วมหาวิทยาลัย : มองการจับมือภาคอุตสาหกรรมเพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดย คุณวนะชัย รัศมีพลังสันติ Head of Mandala Academy บ.โอเชี่ยน สกายเน็ตเวิร์ค จำกัด คุณอานนท์ ศิริพุทธิชัยกุล PRINC Hospital Group ดร.อิศรา ดิสรเตติวัฒน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บ.ที่ปรึกษาซี เอส อาร์ กรุ๊ป จำกัด และดร.ทัชนันท์ กังวานตระกูล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ช่วงที่ 4 นิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัลต้นแบบ เป็นการนำเสนอ 2 ต้นแบบของการเชื่อมต่อ ได้แก่ การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรการศึกษาที่มีความรู้เชิงวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายส่วน ผนึกกำลังที่นำไปสู่การสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีแบบที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดย ศ. ดร.ลัญฉกร วุฒิสิทธิกุลกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิสิฐ วนิชชานันท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปิดท้ายด้วยต้นแบบของการทำงานที่ข้ามศาสตร์อย่าง Telemedicine ที่นายแพทย์ทำงานร่วมกับวิศวกร จนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับนโยบาย โดย ศ. ดร. นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ศ. ดร.ไพศาล มุณีสว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนิทรรศการเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ Metaverse จากเครือข่ายนิเวศ INTANIA VERSE ภายใต้ความร่วมมือคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ครั้งนี้ชวนคนในงานมาสัมผัสกับเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ที่ทำให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ของการเรียนรู้ แม้อยู่กับบ้านก็ส่งร่างอวตาร์ไปเรียนรู้ได้ทั้งในและต่างประเทศได้ ตอบโจทย์นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องการสนับสนุนการสร้างระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยให้เป็น Education 6.0 ติดตามข่าวสารของโครงการได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/digitaluniversity.thaiที่จัดเสวนาอัพเดทสถานการณ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันทุกพุธสุดท้ายของเดือน ในเวลา 19.00 – 21.00 น.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการมหาวิทยาลัยดิจิทัล สถาบันคลังสมองของชาติโทรศัพท์ 02- 126-7632-34 หรือ 08-5496-4945, 08-2228-3304, 08-9496-3998 อีเมล digital.u@knit.or.th