วันที่ 7 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ครั้งนี้ เป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ถือเป็นอีกด้านที่ วช. ให้ความสำคัญ ซี่งในการพิจารณาเพื่อสนับสนุนวางแผนและการสร้างกลไก เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนในปี 2568 วช.จะพิจารณาหลายส่วนด้วยกัน ในมิติเชิงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร การมองเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKR) การส่งเสริมเป้าหมายและกรอบการวิจัย ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ปี 2568 การวางรูปแบบการทำงานที่มองถึง Impact Pathway และที่สำคัญการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์
จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร มีทั้งโอกาสและความท้าทาย วิจัยและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่า โดย วช. มีเป้าหมายและกรอบการวิจัย ที่มุ่งเน้นโจทย์การวิจัยที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ส่งเสริมการขยายตัวความร่วมมือ พัฒนาศักยภาพภาคการผลิต เกษตรกรเข้าถึงข้อมูล พัฒนาตลาดสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
พ.ศ. 2566 – 2570 วช. มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดยปี 2568 วช. มีแผนงานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาบุคลากร สร้างผลกระทบระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และเครือข่าย นอกจากนี้ วช. ยังได้ให้ความสำคัญกับการต่อยอดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการเกษตร ครอบคลุมทั้งมิติวิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่ และเชิงพาณิชย์ โดยมี ตัวอย่างผลสำเร็จ อาทิ การพัฒนาต้นแบบ เสนอแนะเชิงนโยบาย สร้างองค์ความรู้ เพิ่มมาตรฐาน รายได้ และการสร้างอาชีพในภาคการเกษตร ส่วนการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และการนำผลผลิตทางการเกษตรมาสร้างนวัตกรรม และในเชิงนโยบาย วช. จะผลักดันการนำงานทางด้านเศรษฐกิจและการเกษตรมาวางทิศทางกลยุทธ์และการจัดทำแผนการทำตลาด ส่งเสริม และการมองเป้าหมายในเชิงของการวางห่วงโซ่คุณค่าสินค้าที่มองทั้งระบบ อีกด้วย
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2568” ดังนี้
-กลุ่มเรื่องที่ 1 กลุ่มเรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรมด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง” โดย รศ. ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต
-กลุ่มที่ 2 กลุ่มเรื่อง “การพัฒนากระบวนการผลิตแหล่งโปรตีนสัตว์” โดย ศ. เกียรติคุณ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์
-กลุ่มเรื่องที่ 3 กลุ่มเรื่อง “การยกระดับการผลิตพืชผักสู่เกษตรความปลอดภัย” โดย ศ. ดร.กมล เลิศรัตน์
-กลุ่มเรื่องที่ 4 กลุ่มเรื่อง “การผลิตไม้ผลเศรษฐกิจสู่มาตรฐานสากล” โดย รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ
-กลุ่มเรื่องที่ 5 กลุ่มเรื่อง “ตีโจทย์วิจัยไม้ดอกไม้ประดับให้ได้ทุน” โดย นางสุนันทา สมพงษ์
ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมเสวนาและตอบข้อซักถามถึงหัวข้อเสวนาในวันนี้
ทั้งนี้ในช่วงบ่าย ยังมีกิจกรรมแนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย นางสาวศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที
และมีการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร โดย คุณสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในด้านเศรษฐกิจและการเกษตร โดย
-รศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร
-รศ. ดร.เริงชัย ตันสุชาติ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-ดร.บุญเฮียง พรมดอยกอย จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
-รศ. ดร.ธิดา เดชฮวบ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การจัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ยังมีเวลาการจัดอีก 2 วัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน ดังนี้ ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567) และด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567) ซึ่งจัดในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 และออนไลน์ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ