เป็นที่น่ายินดี! ทีมนักประดิษฐ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คว้ารางวัล World Champion รางวัลสูงสุดของการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “WorldInvent Singapore 2024” (WoSG 2024)

เป็นที่น่ายินดี! ทีมนักประดิษฐ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คว้ารางวัล World Champion รางวัลสูงสุดของการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “WorldInvent Singapore 2024” (WoSG 2024)

นักประดิษฐ์นักวิจัยไทย นำผลงานคว้า 18 เหรียญทอง พร้อมคว้ารางวัล World Champion รางวัลสูงสุดของการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ จากเวที WorldInvent Singapore 2024 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับและชื่นชมกับคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ การนำผลงานมาประกวดในเวทีนานาชาติ นับเป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆและการสร้างการยอมรับในมาตรฐาน ในผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ซึ่งในการประกวดและนำเสนอผลงานในเวที WorldInvent Singapore 2024 ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2567 ณ Singapore Expo Convention and Exhibition Centre สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งในปีนี้ ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากประเทศไทย ได้รับเหรียญรางวัล ดังนี้

  • เหรียญทอง 18 ผลงาน
  • เหรียญเงิน 9 ผลงาน
  • เหรียญทองแดง 6 ผลงาน
    พร้อมด้วย Special Prize อีกจากนานาประเทศ อาทิ โรมาเนีย เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เป็นต้น
    และเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ มทร.ธัญบุรี คว้าราง World Champion รางวัลสูงสุดของการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “”พิเพอริไซด์ พลัส” นวัตกรรมทรายจากสารธรรมชาติชนิดใหม่เพื่อควบคุมลูกน้ำยุงลาย” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับบริษัทโฟร์ทเคม เทรดดิ้ง จำกัด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชยา คำรังษี และคณะ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทรายควบคุมลูกน้ำยุงลายชนิดใหม่ โดยพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพจากสูตรเดิม ผลิตจากสารพฤกษเคมี โดยมีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อลูกน้ำยุงลาย เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีสังเคราะห์ temephos มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลสำคัญบนเวที WorldInvent 2024 ดังนี้

  • รางวัล Best Commercialized Invention Award ผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ผลเรื่อง “NestiV+: เครื่องดื่มแบบเจลให้พลังงานจากรังนกสำหรับนักกีฬา” โดย อาจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ถาวร และคณะ จากบริษัท เจบีดี ไบโอเทค จำกัด
  • รางวัล Future Technology Excellence Award ผลงานท่ีได้รางวัล ได้แก่ผลเรื่อง “โดรนแปรอักษรพลุไฟ” โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
  • รางวัล Best Originally Award ผลงานที่ได้รับรางวัลได้แก่ผลงานเรื่อง “การขึ้นรูปวัสดุผสมระหว่างไฮดรอกซีอะพาไทต์และโพลีอีเทอร์ อีเทอร์ คีโตนด้วยกระบวนการพิมพ์สามมิติสำหรับการรักษาบริเวณกระดูกสันหลัง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

และยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมอีก 6 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้

  • รางวัล KIPA Special Award จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์เซรามิกต้านเชื้อสำหรับอุปกรณ์สปาและแพทย์ทางเลือก” โดยนางสาวพรรัตน์ ไชยมงคลและนางสาวสายจิต ดาวสุโข จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ
  • รางวัลจาก Politehnica University of Bucharest ราชอาณาจักรโรมาเนีย ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ระบบผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์ประเภทอัลคาไลน์เอิร์ทบนเซรามิกริงค์ความพรุนสูง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาริษา โสภาจารย์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  • รางวัล CIIS Special Award จาก World Invention Intellectual Property Associations ไต้หวัน ได้แก่ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีการสกัดดอกกุหลาบอินทรีย์แบบลดขยะเป็นศูนย์ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิว” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รางวัล INNOPA Special Award จาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรางวัล CAI Special Award จาก China Association of Inventions ได้แก่ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ปูพื้นทางเดินจากของเสียในกระบวนการผลิต” โดยนางรักชนก โคตรพันธ์ และคณะ จากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย
  • รางวัล DOST-TAPI Special Award จาก DOST Technology Application and Promotion Institute สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้แก่ผลเรื่อง “นวัตกรรมเครื่องมือทดสอบ Atterberg Limits แบบอัตโนมัติ” โดยนายพอพล หวังวัฒนากูล และคณะ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • รางวัลจาก European Academy of Sciences ได้แก่ ผลงานเรื่อง “สายรัดตรวจกลูโคสจากเหงื่อสำหรับคัดกรองเบาหวานด้วยตนเองที่อ่านผลบนสมาร์ทโฟน” โดย ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอแสดงความยินดีและชื่นชม คณะนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ที่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย และสร้างโอกาสในการยอมรับมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์ไทยในเวทีนานาชาติ อีกครั้งหนึ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *