สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงาน‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567’ อว-วช จัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย”  และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  และเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจากนักวิจัยไทย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพด้านงานวิจัย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรม โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย เฝ้ารับเสด็จฯ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า “การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนางานวิจัยในประเทศให้เข้มแข็งเป็นระบบ มีคุณภาพ เพื่อส่งต่องานวิจัยเพื่อขยายผลต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในสังคม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ จะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก และพิสูจน์แล้วว่าทำได้และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพและพัฒนางานวิจัยของไทยให้ดีขึ้นตามลำดับ และเป็นที่ประจักษ์ว่าผลงานที่ได้จากงานวิจัยนั้นใช้ประโยชน์ได้จริง เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือของประชาชนในการสนับสนุนงานวิจัย ความตื่นตัวที่จะพัฒนางานวิจัยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคมส่วนร่วม”

นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งนี้ อว.โดย วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ เอสเอ็มอี ซึ่งปีนี้มีงานวิจัยกว่า 900 ผลงาน เข้าร่วมจัดแสดงนอกจากนี้ยังจัดให้มี Research  Festival ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้าชมงานได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับเหล่านักวิจัยอย่างมากมาย อาทิ Research Lab -ห้องเรียนรู้การวิจัย  เป็นต้น อว.โดย วช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยไทยให้ศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ อันจะช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนต่อไป”

ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์กรมหาชน) เจ้าของผลงานวิจัย “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก” กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะช่วยให้การส่งออกทุเรียนแกะเนื้อของประเทศมีคุณภาพ สามารถเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งได้นานถึง 6 เดือน เมื่อนำออกมาให้คลายเย็นก็จะได้เนื้อทุเรียนที่มีเนื้อสัมและรสสัมผัสเหมือนทุเรียนสด และยังคงโภชนาการได้อย่างครบถ้วน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ มีรับสั่งชื่นชม รับสั่งว่าทรงโปรดทุเรียนแต่ยังติดเรื่องกลิ่นไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เวลามีใครให้มาเลยไม่ค่อยได้กิน อยากจะเอาทุเรียนไทยไปฝากรัฐมนตรีที่จีน แต่ก็เอาไปไม่ได้ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นทุเรียนให้นำขึ้นเครื่องบินได้ก็จะดี ซึ่งรับสั่งนี้นับเป็นกำลังใจให้นักวิจัยในการที่จะสนองพระราชดำริต่อไป” 

รศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ วช. ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำมาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยเครื่องจักรและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ พัฒนาเมล็ดพันธุ์เข้มแข็ง ข้าวเปลือกปลอดมอด ข้าวฮางพรีเมียม ข้าวกาบาอาร์เอส แป้งข้าวทนย่อย ข้าวไก่ชน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พระองค์ท่านมีรับสั่งชื่นชม และรับสั่งว่า ‘อยากทำปริญญาเรื่องข้าว แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่ได้ ถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาเรื่องข้าวให้ลึกซึ้งมากกว่านี้’ ในฐานะนักวิจัยเรื่องข้าวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจให้เราที่จะทำงานนี้ต่ออย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวและงานวิจัย”

ดร.สมปราชญ์ วุฒิวัฒน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงาน ถังอ้วนอุ่น โครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องขยะภายในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ถังอ้วนอุ่น เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษขยะอินทรีย์ในครัวเรือน สามารถนำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม สามารถลดขยะครัวเรือนได้ร้อยละร้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และของเหลือจากการผลิตก๊าชชีวภาพก็สามารนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินและต้นไม้ได้อีกด้วย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรมีรับสั่งแนะนำว่า ถ้าสามารถพัฒนาก๊าซชีวภาพไปประยุกต์ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ด้วยจะดี และมีรับสั่งชื่นชมว่าทำได้ดี เป็นงานที่ช่วยชาวบ้านได้”

สุรีรัตน์ ณ วิเชียร สถาบันบรมราชชนก หนึ่งในนักวิจัยเรื่อง ผลของชุดเพลงผสมคลื่น Binaural และ Superimposed beats ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ : การศึกษาแบบกึ่งทดลอง กล่าวว่า ชุดเพลงนี้จะประกอบด้วยเสียงดนตรียาวต่อเนื่อง 30 นาที ทำนองเพลงช้า ระดับเสียงสูงปานกลางถึงต่ำ เสียงเบา โดยใช้ความถี่บีตส์ 2 ชนิด คือ Binaural และ Superimposed beats เมื่อได้ฟังต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เมื่อได้ฟังเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เมื่อมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทอดพระเนตร มีรับสั่งว่า คนเป็นความดันโลหิตสูงเยอะ แต่เราเป็นความดันต่ำ จะใช้คลื่นนี้ได้ไหม จะต้องพัฒนาคลื่นเสียงให้เร้าใจขึ้นหรือไม่เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิต จึงได้กราบทูลว่า มีทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอีกชุดหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องคลื่นเสียงที่จะช่วยความดันโลหิตต่ำ”

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายในงาน ประกอบด้วย ภาคการประชุมและสัมมนาหลากหลายประเด็นกว่า 150 เรื่อง ภาคนิทรรศการประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ อาทิ นิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค นิทรรศการ Research Festival งานวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ประกอบด้วย นักวิจัยศักยภาพสูง  ศาตราจารย์วิจัยดีเด่น และ เมธีวิจัยอาวุโส วช.เป็นต้น 

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย สามารถค้นหาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *