สกมช. มอบหมาย ม.บูรพาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย

การประชุมรับฟังความคิดเห็น (Focus Group)เกี่ยวกับ (ร่าง) กรอบประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.)มอบหมายให้สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา(ที่ปรึกษา)จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น(Focus Group) เกี่ยวกับ(ร่าง)กรอบประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย  

โดยมีพลอากาศตรีเฉลิมชัย วงษ์เกตุ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ ในงานประชุมในวันนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล

กิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ในภาพรวมระดับประเทศ และระดับกลุ่มหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เพื่อให้ทราบถึงระดับความเสี่ยงในภาพรวม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนในการป้องกันรับมือและลดความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พ.ศ. 2562

ในช่วงต้นของการประชุมได้รับเกียรติจากคณะวิทยากร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ รองศาสตราจารย์ ดร.แสงสุรีย์ วสุพงศ์อัยยะ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนท์ ลีลาตระกูล และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุนิสา ริมเจริญ  บรรยายเกี่ยวกับ (ร่าง) กรอบประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย 

จากนั้นเป็นการรับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถามจากตัวแทนของหน่วยงานต่างๆซึ่งบรรยากาศของการจัดงานเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการรวบรวมผลการประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้ทราบถึงความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับกลุ่มหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและในภาพรวมของประเทศซึ่งจะทำให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศในด้านต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เพื่อการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรการในการลดความเสี่ยง และการพิจารณากำหนดนโยบาย และมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *