วช. ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนทักษะปัญญาประดิษฐ์ ร่วมแข่งขันโดรนประลองปัญญาในงานวันนักประดิษฐ์ 2568







วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จัดการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ประจำปี 2568 สนามที่ 1 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวรายงานการแข่งขัน ภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2568 (Thailand Inventors’ Day 2025) ณ เวทีกิจกรรมกลาง ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในการแข่งขันเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม (Coding) และการควบคุมโดรนด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนได้เรียนรู้และเสริมสร้างความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และการทำงานร่วมกันเป็นทีม อีกทั้งยังสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า การแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ “รายการหนูน้อยจ้าวเวหา” เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและทักษะการเขียนโปรแกรมควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ STEM Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) โดยการแข่งขันประจำปี 2568 สนามที่ 1 นี้ มีนักกีฬาจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 80 ทีม ทำการแข่งขันใน 3 ประเภท ได้แก่ ปีกหมุนประลองปัญญา (ทิ้งสัมภาระ), ยุทธวิธี (การยิงลูกโป่ง) และปีกหมุนประลองทักษะ (ยิงลูกดอก)




ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันการแข่งขันเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับรายการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” ประจำปี 2568 สนามที่ 1 ประเภทปีกหมุนประลองปัญญา ได้แก่ ทีมจะเป็นให้ได้เลย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน, ประเภทยุทธวิธี ได้แก่ ทีมพระปฐมวิทยาลัยทีม B โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และประเภทปีกหมุนประลองทักษะ ได้แก่ ทีมตะโกราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน





การแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเวทีสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทาง STEM Education และการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เยาวชนได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเขียนโปรแกรม (Coding) ผ่านกิจกรรมที่ท้าทายและสนุกสนาน กิจกรรมนี้ไม่เพียงช่วยเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการทำงานเป็นทีม แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

