
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมนิทรรศการสถาปัตยกรรมพร้อมบวก (Arch Rising) ภายใต้กิจกรรม Bangkok Design week 2025 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดกิจกรรม ณ ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง การสนับสนุน “กิจกรรม Bangkok Design Week” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนงานวิจัยและผลงานสร้างสรรค์ โดยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ และ วช. ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างนักวิจัยและนักสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้งานจริงและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยสนับสนุนกิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ผลงานที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการประสานระหว่างเทคโนโลยีและวัสดุจากธรรมชาติในท้องถิ่นไทยคือ ไม้ยางพารา ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการส่งออกยางพาราสูงอย่างต่อเนื่อง งานที่นำเสนอในครั้งนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและการสร้างสรรค์อย่างลงตัว คือการนำสถาปัตยกรรมมาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลงในวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ยางพารา ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหล่านี้ แต่ยังช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม






นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา NRCT Talk หัวข้อเรื่อง “ไม้ในการออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน” (Wood in Sustainable Architectural Design and Construction) ใน 5 ประเด็น ดังนี้
- การใช้ประโยชน์ไม้ เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ รองหัวหน้าภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สถาปัตยกรรมไม้กับการจัดการทรัพยากร โดย ดร.ธีรเนตร เทียนถาวร ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ระบบนิเวศของสถาปัตยกรรมไม้ โดย อ.ดร.ภรพัสุ ศิริคุรุรัตน์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ไม้ประสานกาวในงานวิศวกรรมโครงสร้าง โดย ผศ.วัชรพงษ์ ประสานเกลียว ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- การทำไม้ประสานกาวด้วยมือ โดย อ.กฤษฎา พลทรัพย์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง




ทั้งนี้ กิจกรรมนิทรรศการและงานเสวนา NRCT Talk นี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้ไม้ในงานออกแบบและการก่อสร้างสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการแสดงบทบาทของไม้ในฐานะวัสดุที่มีศักยภาพในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนิทรรศการสถาปัตยกรรมพร้อมบวก (Arch Rising) จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ลานหน้าศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย