แพทย์เน้นย้ำ กลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคร่วม -เด็ก-สตรีมีครรภ์เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หลังพบสัญญาณปี 68 พุ่งสูง

IMG_1817

แพทย์เตือนคนไทยป้องกันตัวจากภัยโรคทางเดินหายใจ ต้นเหตุการป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลังต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจ อาทิ โควิด 19 ปอดอักเสบและ RSV พร้อมเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 รุนแรงซ้ำหนุนกระตุ้นโรคเพิ่มขึ้น ด้านไฟเซอร์เตรียมพร้อมช่วยคนไทยรับมือ กระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ หรือมีโรคร่วม หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก เร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค และลดการป่วยหนัก

%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%20%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C%20%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาคนไทยป่วยเป็นโรคโควิด 19 และเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะลดความรุนแรงลง แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติในปี 2567 พบผู้ป่วยสะสม 769,200 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดและผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย  และสายพันธุ์ที่ตรวจพบเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ JN.1 ส่วนของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ในปี 2567 มีผู้ป่วย RSV จำนวน 8,218 ราย โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี  ในขณะที่อุบัติการณ์ลดลงในผู้ใหญ่ และเริ่มพบมากขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เป็นการสุ่มตัวอย่างในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค 8 แห่ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่านี้ สำหรับสถานการณ์โรคปอดอักเสบ ปี 2567 มีผู้ป่วยสะสมกว่า 4 แสนราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี และเด็กเล็ก 0-4 ปี  มีผู้เสียชีวิต 865 ราย โดยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย โดยไวรัสเกิดได้จากไข้หวัดใหญ่ RSV และ COVID-19 ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักได้แก่เชื้อ Streptococcus pneumoniae หรือเชื้อนิวโมคอคคัส1

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในปี 2568 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง  ข้อมูลถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยสะสม 8,434 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 1,2   ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในสถานที่ปิด สถานที่แออัด ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

IMG_1818

ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า  การได้รับวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะช่วยลดการติดเชื้อ การเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตได้ ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก เสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบมากเป็นอันดับต้น ๆ3 

สำหรับ โควิด 19 ในเด็กเล็กเมื่อเป็นแล้วมักมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง จนเกิดอาการชักได้ และมีอัตราการนอนรพ.สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ เด็กบางคนเมื่อหายจากโควิด 19 แล้ว อาจมีอาการ “Long COVID” นานเป็นเวลาหลายเดือนได้ ส่วนในเด็กโตอาจมีอาการอักเสบรุนแรงทั่วร่างกายเรียก “MIS-C” 

ในส่วนของ RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กวัย 0-6 เดือนป่วยได้บ่อย และจัดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้  เด็ก ๆ เป็นปอดอักเสบต้องนอนโรงพยาบาล อาจมีอาการรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่นความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดที่เพิ่มขึ้น 

ที่น่ากังวล คือการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ ไม่ได้จบแค่ไวรัสเท่านั้น ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการสำคัญคือเชื้อนิวโมคอคคัสที่มักอาศัยอยู่ในโพรงจมูก และลำคอของเด็ก ๆ อยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่เด็กร่างกายอ่อนแอหรือมีการติดเชื้อไวรัสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดใหญ่ RSV หรือ โควิด 19 ก็ตาม จะทำให้เชื้อนิวโมคอคคัส แพร่กระจายไปอวัยวะทั่วร่างกาย นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบแล้ว ยังทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และหูชั้นกลางอักเสบได้ด้วย แต่โชคดีที่ทั้ง 4 โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน เราจึงสามารถลดอัตราการป่วย-ตาย การนอน รพ. จากเชื้อดังกล่าวได้เป็นอย่างดีทั่วโลก

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลงทุกปี ปีที่ผ่านมาอัตราการเกิดลดลงถึง11%4 เราจึงไม่ควรสูญเสียเด็กๆ อีก โดยเฉพาะจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน  

“การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้แข็งแรง นอกจากจะสามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งมีมูลค่าที่สูง แม้จะรักษาในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม  ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว และยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วยอีกด้วย ” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

IMG_1819

ขณะที่ ศ. นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้า Tropical Medicine Cluster, Health Supercluster, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ยังมีความจำเป็นต้องได้ฉีดวัคซีนเช่นกัน เพราะ 1. เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง 2. วัคซีนมีประโยชน์ในด้านช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ และ 3. วัคซีนป้องกันอาการรุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อได้ โดยสามารถพิจารณาการให้วัคซีนได้จาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อายุ โรคประจำตัว ประวัติการฉีดวัคซีนและสถานะภูมิคุ้มกันของผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเห็นข่าวดาราติดไข้หวัดใหญ่ แล้วมีภาวะแทรกซ้อนคือเกิดโรคปอดอักเสบ ทำให้เสียชีวิต เพราะเมื่อเชื้อลงปอดแล้วโรคมักจะรุนแรง ซึ่งในหลาย ๆ เคส เมื่อติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ส่งผลให้อาการยิ่งทวีคูณความรุนแรง ดังนั้นถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำอย่างยิ่งให้ฉีดวัคซีนเพราะการป้องกันถูกกว่าการรักษา”

ในส่วนของโควิด 19 นั้น ตอนนี้เป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ จึงควรพิจารณาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพราะภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้ออาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง กับกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่ากลุ่มไม่ได้รับวัคซีนจะมีการติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงมากกว่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นมีความหลากหลายและขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย

“การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคทางเดินหายใจในผู้ใหญ่ หวังผลในการป้องกันปอดอักเสบเป็นหลัก เพราะเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล บางรายอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือด

ร่วมด้วย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับโรคทางเดินหายใจในผู้ใหญ่ที่สำคัญอย่างน้อย 4 โรค ได้แก่ 1. ไข้หวัดใหญ่ 2. โควิด 19 3. โรคติดเชื้อไวรัส RSV และ 4. โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าว

IMG_1823

ด้าน นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไฟเซอร์มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นการค้นคว้าและพัฒนายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ถือเป็นภัยคุกคามทั่วโลก 

สำหรับวัคซีน PCV ที่ป้องกันโรคปอดอักเสบ ในปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส  20 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดปอดอักเสบหรือไอพีดี   เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากวัคซีนในรุ่นก่อนหน้าที่มีการใช้ทั่วโลกมากว่า 20 ปี  โดยเพิ่มสายพันธุ์ในวัคซีน เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงได้กว้างขึ้น  

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ชนิดสองสายพันธุ์ (Bivalent RSV preF Vaccine) ครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ A และ B เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก และในผู้สูงอายุตั้งต่ 60 ปีขึ้นไป 

IMG_1820

สำหรับวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด19  เนื่องจากโรคยังคงมีความรุนแรง ทำให้เกิดการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือบุคคลในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้ตั้งครรภ์ รวมถึงเด็กเล็กด้วย คนกลุ่มเหล่านี้ รวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมตามสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน 

IMG_1823

“วัคซีนที่บริษัทพัฒนาขึ้น ผ่านการศึกษาที่เข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสูงสุด  มีการตรวจสอบรับรองจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศทั่วโลก จนได้รับการขึ้นทะเบียน และมีกระบวนการเฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานในเรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่หนักแน่น จึงให้ความมั่นใจได้ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารออกมามากมายตามสื่อต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความสับสน จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร โดยหมั่นตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” นพ. นิรุตติ์กล่าว

IMG_1824
IMG_1822
IMG_1825
IMG_1826
IMG_1827
IMG_1828
IMG_1829
IMG_1830

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *