กมธ. บุหรี่ไฟฟ้าฯ เร่งรัฐแก้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบสร้างปัญหาสังคมกรณีพรีม มือสาดน้ำซุป และปัญหา “พอตเค” ระบาดในหมู่นักเที่ยว

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมาย หลังสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าลุกลามเกินกว่าประเด็นเยาวชนเข้าถึงง่าย ขยายไปสู่ปัญหาการกระทำผิดกฎหมายในหลายมิติ ทั้งการลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่ายโดยไม่มีมาตรฐาน ลักลอบผสมเคตามีน และลามไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ

นายทศพร ทองศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าหาซื้อได้ง่ายอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะจากกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่ม LGBTQ ใช้ความรุนแรงกับรุ่นน้องและยังพบว่าตั้งตัวเป็นเอเย่นต์ขายบุหรี่ไฟฟ้า หรือเครือข่ายต่างชาติที่ลักลอบผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตามอาคารพาณิชย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ และบางชนิดถูกดัดแปลงด้วยสารเคมีอันตราย เช่น พอตเค ที่มีส่วนผสมของเคตามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เสี่ยงต่อชีวิตของผู้ใช้
“เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาการเข้าถึงของเยาวชนอีกต่อไป แต่เกี่ยวพันกับอาชญากรรมอื่น ๆ เช่น เครือข่ายค้าสินค้าผิดกฎหมายที่ระบาดในกลุ่มนักเที่ยว เช่น พอตเค ที่ไม่ได้รับการควบคุมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรงมีอันตรายถึงชีวิต รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายทศพรกล่าว
นายทศพรเปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำการศึกษาอย่างรอบด้าน และได้เสนอ 3 แนวทางในการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า โดย 2 ใน 3 แนวทางนั้นคือการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่มาตรฐานการผลิต ช่องทางการจำหน่าย ไปจนถึงมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน เช่นเดียวกับการมีมาตรการกฎหมายควบคุมบุหรี่ซิกาแรตเป็นสินค้าควบคุมที่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่และปกป้องเด็กและเยาวชนได้ดีมากกว่าการแบน โดยเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายแทนการแบนหลังจากรับฟังข้อมูลรอบด้าน ทุกมิติ และศึกษาตัวอย่างจากประเทศชั้นนำและมีความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขของโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา พบข้อดีของการควบคุมมากกว่าข้อเสีย ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือการคงการแบนไว้ต่อไป ซึ่ง ครม ต้องไปพิจารณาต่อว่าจะเลือกแนวทางไหนที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยตอนนี้ได้มากที่สุด
“ส่วนข้อเสนอการทำให้ถูกกฎหมายไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ใครสูบก็ได้ หรือขายอย่างเสรี แต่เป็นการนำเข้าสู่ระบบ เพื่อให้มีมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย มีการขายผ่านช่องทางที่กำหนด มีการตรวจสอบป้องกันเยาวชน ลดปัญหาการลักลอบผลิตและจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย ที่สำคัญยังช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้อีกด้วย” นายทศพรกล่าว
รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ได้เสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายทศพรเรียกร้องให้มีการเร่งรับทราบรายงานและส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
“หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ต่างมีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนที่เป็นมาตรฐานสากล ในสหรัฐฯ การขายบุหรี่ไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (FDA) ผู้ผลิตต้องยื่นผลการวิจัยด้านความปลอดภัยและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนป้องกันเยาวชนเข้าถึง ขณะที่ในอังกฤษ บุหรี่ไฟฟ้าสามารถขายได้ในร้านขายยาหรือโรงพยาบาล และมีบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำการใช้เพื่อเลิกบุหรี่ หรือกรณีประเทศนิวซีแลนด์ที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าหลักจากยกเลิกการแบน จนทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังแก้ไขกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเป็นสากล สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม เราก็ควรใช้แนวทางเดียวกันกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้การควบคุมมีประสิทธิภาพ สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ และคุ้มครองผู้บริโภคและเยาวชนได้อย่างแท้จริง
สำหรับความเห็นส่วนตัวของกรรมาธิการแต่ละท่าน ได้มีการบรรจุไว้ในภาคผนวกของรายงาน ซึ่งสำหรับตัวผมเองสนับสนุนแนวทางที่ 2 คือการทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นสินค้าถูกกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาล “ไม่ควรปิดกั้นและริดรอนสิทธิเสรีภาพ” ของพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้สูบบุหรี่ ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาเชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า แต่ผมก็ตระหนักดีว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นได้รับความนิยมมากกว่าสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งสังคมยังมีข้อกังวลอย่างมากในเรื่องนี้” นายทศพร กล่าวทิ้งท้าย