

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เปิดตัว ศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ณ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสิทธิชนม์ คำแปล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ และ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ที่ให้การต้อนรับ


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ กระทรวง อว. มีนโยบายมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน วช. มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการประกอบโดรนให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรในพื้นที่ได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์โดรนนับเป็นกุญแจสำคัญของการบินอัตโนมัติ โดยการผสมผสานเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและการสื่อสารเข้าด้วยกัน ทำให้โดรนสามารถแก้ไขปัญหาในการทำงานในด้านต่าง ๆ ของภาคเกษตรกรในด้านพื้นที่ ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และประสิทธิภาพการผลิต อันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรมในการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามามีส่วนในการยกระดับประสิทธิภาพกาเกษตรของจังหวัดพื้นที่บุรีรัมย์


ดร.ภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ วช.และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรต้นแบบแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะช่วยให้เกษตรกรและเยาวชนในพื้นที่ได้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยต่อไปในอนาคต


นายสิทธิชนม์ คำแปล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีการบินโดรนเพื่อการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำโดรนไปใช้ในกระบวนการเพาะปลูก ฉีดพ่นสารเคมี และตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้โครงการนี้ ได้มีการจัดอบรมการประกอบและใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 – 27 กันยายน 2567 มีเกษตรกรและบุคลากรจากวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 50 คน สามารถผลิตนักบินโดรนในพื้นที่ พร้อมในศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร สามารถมีอุปกรณ์สำคัญในการขยายโอกาสความรู้และการทำงาน ได้แก่ โดรนเพื่อการเกษตรแบบ 6 ใบพัด ขนาดน้ำหนักบรรทุก 30 กิโลกรัม จำนวน 2 ลำ, แบตเตอรี่ 4 ก้อน, เครื่องชาร์จแบตเตอรี่โดรน 2 เครื่อง และเครื่องปั่นไฟเบนซินกำลังไฟ 9 กิโลวัตต์ ที่ได้รับการสนับสนุนในศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร จ.บุรีรัมย์ ในครั้งนี้


อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการศึกษาประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำเทคโนโลยีโดรนไปใช้ประโยชน์กับเกษตรกร ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จึงเป็นการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยศูนย์แห่งนี้ ดำเนินการครบวงจร โดยมีการพัฒนาจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรม ประกอบด้วย การประกอบการบินโดรน การฝึกบินโดรน การลงพื้นที่จริงเพื่อฝึกให้สามารถบินโดรนในพื้นที่จริง โดยใช้โดรนขนาดใหญ่ที่มีเรดาร์ป้องกันการชน เพิ่มฟังก์ชันใส่ถังในการหว่านเมล็ดและยาฆ่าแมลงต่าง ๆ และการบริการให้กับเกษตรกรในการพ่นสารเคมียาฆ่าแมลงโดยใช้โดรน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรแห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ แต่ยังมีคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างยั่งยืน มีการหมุนเวียนนักศึกษารุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดองค์ความรู้ รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านอากาศยานไร้คนขับเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมยุคดิจิทัล
