

จัดพิธีอัญเชิญพระอัฏฐารสไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ให้ประชาชนสักการะขอพรช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ถึง 17 เม.ย. 68

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งนอกจากการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีแล้วนั้น อีกหนึ่งกิจกรรมที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือการสรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ในวาระอันเป็นมงคลนี้ นอกจากการเล่นสาดน้ำเพื่อคลายร้อนและสร้างความสนุกสนานแล้ว การสรงน้ำพระพุทธรูปยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญยิ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวต้อนรับศักราชใหม่


เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ได้รับความเมตตาจากพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ให้อัญเชิญ “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” จากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะและสรงน้ำ เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีแห่งการอัญเชิญพระอัฏฐารสทางน้ำ จากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลกมาประดิษฐาน ไว้ ณ พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ เมื่อปีพ.ศ. 2368 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 การอัญเชิญพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐาน ณ เมืองสุขสยามในครั้งนี้ ถือเป็นวาระพิเศษที่เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วม สักการะและสรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ไทย ณ ประตูสุขสุวรรณศาลา เมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม ตั้งแต่วันที่ 4 – 17 เมษายน พ.ศ. 2568


ซึ่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ร่วมกับ เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม จัดพิธีย้อนรำลึกเนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีแห่งการอัญเชิญพระอัฏฐารสฯ ทางน้ำ จากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก มาประดิษฐาน ณ พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปีพ.ศ. 2368 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 พร้อมได้ประกอบพิธีบวงสรวง เพื่ออัญเชิญพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ณ พระวิหารพระอัฏฐารส โดยมีพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายบัญชา ฉันทดิลก กรรมการผู้จัดการโครงการสุขสยาม, คณะผู้บริหาร และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมประกอบพิธีอย่างเนืองแน่น


หลังเสร็จสิ้นพิธี ได้มีการอัญเชิญพระอัฏฐารสฯ ออกจากพระวิหาร ขึ้นประดิษฐานบนขบวนราชรถที่ตกแต่งไว้อย่างงดงาม พร้อมทั้งมีการจัดตั้งขบวนรับอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ ขบวนศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค, ขบวนกลองสะบัดชัย, ขบวนเต้นโต, ขบวนเทวดา,ขบวนนางสงกรานต์, ขบวนนางรำ, ขบวนกลองยาว ฯลฯ จากนั้น ได้มีการเคลื่อนขบวนแห่พระอัฏฐารสฯ วนรอบองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทองเป็นทักษิณาวรรต ก่อนเคลื่อนสู่ถนนหน้าวัดสระเกศ มุ่งสู่ท่าเรือวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร แล้วอัญเชิญพระอัฏฐารสฯ ประดิษฐานในเรือตระการตาแห่พระทางน้ำสู่ เมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร เสมือนเมื่อครั้งอัญเชิญในสมัยปี 2368

เมื่อขบวนเรืออัญเชิญพระอัฏฐารสฯ เทียบท่าเรือไอคอนสยาม คณะสงฆ์วัดสระเกศ นำโดยพระราชกิจจาภรณ์ และคณะผู้บริหารได้อัญเชิญพระอัฏฐารสฯ แห่รอบเมืองสุขสยาม ก่อนนำขึ้นประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี บริเวณประตูสุขสุวรรณศาลา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำขอพร เสริมความเป็นสิริมงคลต้อนรับเทศกาลปีใหม่ไทย เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันงดงาม สัมผัสประเพณีไทยดั้งเดิมอันทรงคุณค่า ผลักดัน Soft Power อัตลักษณ์ความเป็นไทยออกสู่สายตาชาวโลก ในงาน “สุขสยาม มหาสงกรานต์ มหาสนุก” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สุขสนุก ผ้าขาวม้าไทย” ได้ถึงวันที่ 17 เมษายน 2568 ณ เมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม

ความสำคัญและประวัติ “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” หลวงพ่อพระอัฏฐารส มีพระนามเต็มว่า “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ” ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น คาดว่ามีอายุ ๗๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว (๒๑ ศอก ๑ นิ้ว) ประมาณ 9 เมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก วัดประจำพระราชวังจันทน์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘

ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในแผ่นดิน ให้คนในแผ่นดินเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์

เมื่อครั้งมีการเคลื่อนย้ายพระอัฏฐารสฯ มายังกรุงเทพมหานครนั้น ได้อัญเชิญล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่ ทำให้มีน้ำหนักมาก จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉพาะองค์พระพุทธปฏิมากร ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ลือปากต่อปากกันว่า พระลอยน้ำ ระหว่างการเดินทางจากเมืองพิษณุโลกสู่พระนครจึงมีประชาชนเฝ้ารอรับเป็นจำนวนมาก จนแพเทียบท่าที่กรุงเทพมหานคร ได้มีประชาชนมากมายเหลือคณานับหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและช่วยกันชักพระขึ้นจากแม่น้ำ จนเป็นคำพูดติดปากว่ามีคนถึงสามแสนคนมามุงดูการชักพระขึ้นจากแม่น้ำ จึงเรียกย่านซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าน้ำนี้ว่า “ย่านสามแสน” ต่อมาจึงกลายเป็น “สามเสน” ในปัจจุบัน

เมืองสุขสยาม ขอเชิญทุกท่านสรงน้ำ พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ณ เมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม พร้อมร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ภายในงาน สุขสยาม มหาสงกรานต์ มหาสนุก ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 เมษายน 2567 ณ ไอคอนสยาม
