วันที่ 5 ส.ค 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“วิศวกรสังคมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 11 แห่งเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนโครงการบ่มเพาะ และเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ส่งเสริมการบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานผู้ผลิตองค์ความรู้การวิจัย หน่วยงานภาคปฏิบัติที่ทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ และกลุ่มเป้าหมายในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ โดยมี พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามฯ พร้อมด้วย ผศ. ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุลเลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีฯ
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว นำโดยผู้บริหารของ วช.และมหาวิทยาลัยราชภัฏ 11 แห่ง ได้แก่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประยูร ลิ้มสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริวัฒน์ โพธิเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิศวกรสังคมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรมผ่านระบบออนไลน์ (ระบบ ZOOM)
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้กล่าวว่า วิศวกรสังคม เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งและสร้างเสริมสมรรถนะผู้เรียนให้สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี ซึ่งวิศวกรสังคมที่ได้รับการพัฒนาทักษะ จะสามารถเป็นสื่อกลางในการประสานประโยชน์ของทุกภาคส่วนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนา ให้นักศึกษามีความสามารถและทักษะเพื่อการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนได้และเกิดการสร้างนวัตกรรมตามมา มหาวิทยาลัยราชภัฎ ทั้ง 11 แห่ง ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากวช. คงจะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เรากำลังเดินตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่าการศึกษาต้องสร้างคนไทยที่มีทัศนคติที่ดี สร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง เข้มแข็ง เป็นพลเมืองดี มีวินัย จะเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้ภายใต้โครงการนี้
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า บัณฑิตกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศล้วนผลิตโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราโชบายในด้านการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎ คือให้มุ่งเน้นในการพัฒนาคนและพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎก็ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี เช่นในสถานการณ์โควิด -19 มหาวิทยาลัยราชภัฎยังร่วมกับ อว. ทำโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ เป็นกำลังของจังหวัด และวันนี้ยังมีเรื่องที่ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 18.9 ล้านบาทแก่ อว. เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎก็จะต้องเป็นกำลังหลักในการจัดทำอยู่แล้ว