นักวิชาการเผยข้อมูล WHO ไทยเก็บภาษียาเส้นต่ำสุดในโลก


ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาษียาสูบที่รวบรวมและเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลกตามรายงาน WHO report on the global tobacco epidemic 2021 : addressing new and emerging products ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า จาก 32 ประเทศที่มีรายงานว่าเก็บภาษีสรรพสามิตจากยาเส้นในปี 2563 ประเทศไทยเก็บภาษียาเส้น (Roll Your Own) ในสัดส่วนร้อยละ 14 ของราคาขายปลีก ซึ่งต่ำที่สุดใน 32 ประเทศดังกล่าว ขณะที่ไทยเก็บภาษีบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่ายาเส้นขนาดบรรจุ 20 กรัมในไทยมีราคาเพียง 6.67 บาท ขณะที่บุหรี่ยี่ห้อขายดีในไทยขนาดบรรจุ 20 มวน มีราคาซองละ 60 บาท ต่างกันถึง 8 เท่าตัว
“สัดส่วนภาษีและราคาที่ยังต่างกันมากระหว่างยาเส้นและบุหรี่ ทั้งที่ปริมาณการบริโภคยาเส้นมากพอๆ กับบุหรี่ ทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียโอกาสด้านรายได้ภาษี โดยข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องยาเส้นของผมพบว่า การขึ้นภาษียาเส้นจะช่วยสร้างรายได้ภาษีเพิ่มได้ปีละกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมที่กำลังถดถอยได้พอสมควร ทั้งนี้ ควรวางแผนปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นรูปธรรม และค่อยๆ ขึ้นภาษีเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการค่อยๆ ปรับตัว”


ศ.ดร.อรรถกฤต ยังเสนอแนะให้รัฐเร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการให้ทั่วถึงด้วย เพราะจากผลการวิจัยเรื่อง “เส้นทางยาเส้น เกษตรกรผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคบุหรี่มวนเอง” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ชี้ว่า ในอุตสาหกรรมยาเส้นนั้นมีทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กแบบครัวเรือนและขนาดใหญ่แบบโรงงาน ซึ่งมีระดับขีดความสามารถและทัศนคติที่แตกต่างกันไปในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมยาสูบของรัฐ และยังมีบางรายที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการควบคุมยาสูบได้อย่างครบถ้วน
ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ที่กรมสรรพสามิตออกมายืนยันล่าสุดว่า จะสามารถมีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ 6 หมื่นล้านบาทนั้น ศ.ดร.อรรถกฤต แสดงความกังวลพร้อมให้ความเห็นว่า


“กระทรวงการคลังควรจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขโครงสร้างภาษีโดยหันมาเก็บภาษีมูลค่าบุหรี่อัตราเดียว เพราะการใช้อัตราภาษีบุหรี่มูลค่าแบบ 2 อัตราในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับข้อแนะนำจากรายงานของ WHO ที่ให้ความสำคัญมาก ๆ กับการใช้โครงสร้างภาษีที่มีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
รายงานฯ ยังระบุว่า จากประเทศที่ใช้ระบบภาษีแบบผสมเช่นเดียวกับไทยจำนวนกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ในปี 2563 มีเพียง 7 ประเทศจาก 10 ประเทศ ในปี 2561 ที่ยังใช้ระบบภาษีหลายอัตรา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในปัจจุบัน รัฐคงต้องพิจารณาอัตราภาษีให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปัจจุบันด้วย โดยต้องดูระดับรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคควบคู่ไปกับระดับราคาของยาเส้นที่ยังต่ำอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น อาจปรับอัตราภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 23 อัตราเดียว ซึ่งจะทำให้บุหรี่เกือบทั้งหมดในตลาดขยับราคาจากซองละ 60 บาท เป็น 63 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ซึ่งก็สูงมากแล้วในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่อาจหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สองในปีนี้ และอัตราภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 23 ยังเป็นระดับที่ไม่กระทบการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตด้วย จากนั้นค่อย ๆ ปรับขึ้นภาษีในระยะต่อไปให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *