ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ราว ร้อยละ 18 ของจำนวนประชากร หรือ ราว 12 ล้านคน หน่วยงานภาครัฐและภาควิจัย ได้เตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การวิจัย ครอบคลุมในหลายมิติโดยเฉพาะเชิงสาธารณสุข ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะสัดส่วนโครงสร้างผู้สูงอายุที่สูงขั้น เป็น ร้อยละ 20 ในปี พ.ศ.2565 ซึ่งโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย วช. ได้ขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60-70 ปี ที่ยังมีความรู้ความสามารถ ในการพัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้โดยในปี พ.ศ. 2564-2565 จะมีผู้สูงวัยเข้าร่วมแผนและโครงการประมาณ 8-10 เรื่อง ราว60,000 คน และก้าวสู่ 100,000 คน ในปี พ.ศ. 2566 ภายใต้ความร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรโดยผู้สูงวัยที่เข้าร่วมสามารถเป็นได้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่ม และสานต่อความรู้ เป็น Platform ผู้สูงวัยที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับ แผนงานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสากิจเพื่อสังคมด้านการบริบาลผู้สูงอายุ จนเกิดเป็น “แม่มอกโมเดล” ซึ่งเห็นได้ชัดจากความร่วมมือในครั้งนี้
ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่อง “แผนงานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบ สู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือลักษณะสหสาขาวิชาการ ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวม 22 หน่วยงาน ร่วมกันศึกษาและพัฒนา “ชุมชนนักบริบาลผู้สูงอายุต้นแบบ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง” ที่เกิดจากการรวมกันของประชาชนในพื้นที่เป็นภาคประชาสังคมแบบไทย ๆ สร้างโอกาสด้วยการระดมทุนกันเองโดยไม่พึ่งรัฐ สร้างวิชาชีพ “นักบริบาลผู้สูงอายุ” ให้กับหญิงชาวบ้าน ลูกหลานชาวนาที่เป็นหญิงเฝ้าบ้าน ลูกหลานเฝ้ายายในพื้นที่ ให้มีอาชีพเสริมจากอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้ชื่อ“ชมรมแม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี” จนได้รับความช่วยเหลือ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การดูแลผู้สูงอายุ 80 และ 420 ชั่วโมง” มีผู้จบหลักสูตร 80 ชั่วโมง 90 คน จบหลักสูตร 420 ชั่วโมง 44 คน ออกให้บริการดูแลผู้สูงอายุทั้งในขณะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ติดตามดูแลผู้สูงอายุที่บ้านทั้งแบบไป – กลับ และ แบบประจำรายเดือนควบคู่กับการเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาสู่การเป็น “วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” ผลิตเทคโนโลยีบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชันมือถือ และพัฒนารูปแบบบริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ภายใต้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม พร้อมทั้งพัฒนาบ้านนักบริบาลผู้สูงอายุในพื้นที่สู่การเป็น สถานประกอบการด้านการบริการดูแลผู้สูงอายุ ต้นแบบ ที่ได้มาตรฐานตามกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำหนด พัฒนาระบบจัดการหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ สำหรับนักบริบาลแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการบริบาลผู้สูงอายุในยุควิถีใหม่ เป็นคู่มือปฏิบัติงานของนักบริบาลและหน่วยงานที่สนใจพัฒนาวิชาชีพให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างกว้างขวางต่อไป