ด้าน ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ปริมาณขยะอินทรีย์ ในประเทศไทยมีมากกว่า 40 ตัน ต่อวันในอดีต การกำจัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือน เช่น เศษอาหาร เศษผัก จะใช้วิธีการฝังกลบ หรือสร้างถังหมักขยะอินทรีย์ ซึ่งทั้งสองวิธีต้องใช้ระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขลักษณะ ทัศนวิสัย นักวิจัยจึงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในครัวเรือนที่ส่งกลิ่นเหม็น และยากต่อการกำจัด โดยสามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้เร็ว ในเวลา 48 ชั่วโมง มีราคาเพียงหลักพัน จากปกติหลักหมื่นบาท มีกรรมวิธีที่เหมาะสม ประหยัดเวลา และพื้นที่ในการจัดการ สามารถลดปัญหาการจัดการขยะที่ต้นทาง ขยะอินทรีย์จึงปนเปื้อนน้อยลง ลดภาระการจัดการของส่วนกลาง ทำให้กระบวนการการคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีโดยส่งเสริมให้รับผิดชอบร่วมกัน ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
“ หากมีการนำเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถลดปริมาณขยะโดยรวม กว่า 60% ลงได้ หรือคิดเป็นงบประมาณกว่า 64 ล้านบาทในแต่ละวัน จากการจัดการขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ขยะประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ปนเปื้อนกับขยะอินทรีย์ก็ยังสามารถนำไปใช้งานใหม่หรือใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ ตัวเครื่องผ่านการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรแล้ว ขณะนี้ ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามหน่วยงาน ผู้ประกอบการ และกลุ่มบุคคลต่าง ๆ รวม 100 กว่าเครื่องพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานและชุมชน อาทิ วัด โรงเรียน โรงไฟฟ้า เพื่อให้คนไทยหันมาตระหนักถึงการจัดการขยะมากยิ่งขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมกับบริษัท เอ็นไวสมาร์ทเทค จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนทุน Pre-Seed จากมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ” ดร.นรินทร์ กล่าว
เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นระบบอัตโนมัติที่สามารถเติมขยะเข้าไปได้ตลอดทุกวัน มีการใช้วงจรไฟฟ้าขนาดเล็กในการทำงาน แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ ประมาณ 2 บาทต่อวัน และตัวเครื่องมีขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณขยะอินทรีย์จากครัวเรือน วัสดุหาได้ง่าย และกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน อาศัยหลักการของการย่อยสลายสารอินทรีย์ทั่วไป โดยอาศัย สารอินทรีย์ (เศษอาหาร) จุลินทรีย์ และออกซิเจน โดยจุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจน ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวจะมีข้อจำกัด ที่ทำให้ระบบการย่อยสลายส่งกลิ่นเหม็น นักวิจัยจึงปรับมาใช้วิธีการทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการให้เครื่องหมุนกวนส่วนผสมดังกล่าวตลอดเวลา พร้อมกับเติมอากาศเข้าไปในระบบอย่างเพียงพอต่อความต้องการของจุลินทรีย์ ทำให้ความร้อนระบายออกจากระบบ การย่อยสลายก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคงที่ และสมบูรณ์ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง โดยไม่เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ โดยหลังจากใช้เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์แล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการ สามารถนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย