วช. ขานรับนโยบายเปิดประเทศ มอบ “โลจิสติส์ท่องเที่ยว มาตะ เมืองลุง” ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.พัทลุง 

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ส่งมอบแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยว “มาตะ เมืองลุง” ผลงานจากการจัดการความรู้การจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แก่นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM Cloud Meetings

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้วางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาประเทศที่ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจ วช. ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจได้เดินหน้า ไปสู่ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีหลักคิดคือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และ เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสตกิส์ท่องเที่ยว “มาตะ เมืองลุง” เป็นผลงานของโครงการเรื่อง “การจัดการความรู้การจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ โดยมี ดร.คนึงนิจต์ หนูเช็ก เป็นหัวหน้าโครงการในการร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างกระบวนการการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงให้พร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวสามารถกลับมาท่องเที่ยวได้เป็นปกติ

ดร.คนึงนิจต์ หนูเช็ก หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การจัดการความรู้การจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ในการทำวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการทุกอำเภอในจังหวัดพัทลุงเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลการวิจัยการ จัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง โดยเริ่มจากศึกษาระบบโลจิสติกส์และการจัดการห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมให้ชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “มาตะ เมืองลุง” เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการข้อมูลการท่องเที่ยวของตนเองและดูแลกันผ่านแพลตฟอร์มใน 4 บทบาท และการบริหารอย่างยั่งยืนด้วยระบบเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐและชุมชนท่องเที่ยว เพื่อจัดการความรู้สู่การปฏิบัติการจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในโครงการและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยว และเพื่อจัดทำคู่มือองค์ความรู้ตามแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวและเผยแพร่สู่สาธารณะ อาทิ การจัดทำ m-book คู่มือองค์ความรู้ตามแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง , เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “มาตะ เมืองลุง”,  คู่มือการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “มาตะ เมืองลุง” สำหรับนักท่องเที่ยว ในรูปแบบ e-Book สามารถจะอ่านผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ ผ่านลิงก์ชั้นวางหนังสือ, อินโฟกราฟิก, การจัดทำคลิปวิดีโอเพื่อเป็นสื่อเสริมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านคลิปวิดีโอการใช้เทคโนโลยี “มาตะ เมืองลุง”, และการจัดทำ Line Sticker “มาตะ เมืองลุง” 


จากผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ท่องเที่ยว “มาตะ เมืองลุง” สะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดพัทลุงสามารถใช้แพลตฟอร์มโลจิสติกส์ท่องเที่ยว “มาตะ เมืองลุง” เป็นช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในสถานการณ์วิกฤตโควิดหรือวิกฤตในลักษณะเดียวกันในอนาคต และสามารถใช้เป็นช่องทางในการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์แก่นักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิดให้สามารถท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงได้อย่างสะดวกตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวรวมถึงสามารถเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่นต่อไปในอนาคต

ในวันนี้ วช. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับจังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ท่องเที่ยว “มาตะ เมืองลุง” เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงอย่างยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *