นักวิจัยแผนงานการบริหารจัดการน้ำปี 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยชุมชน นำเสนอ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ใน 4 พื้นที่กรณีศึกษา แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่ระบบนิเวศต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ชี้การจัดการน้ำชุมชน ควรขับเคลื่อนแบบ 3+2 เน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยแบบชุมชนมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมวิจัยจากโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำปีที่ 2 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ร่วมกับ เครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น นักวิจัยชุมชนจัดการน้ำ4 ภูมิภาค และนักวิชาการหน่วยงานต่าง ๆ เปิดเผยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในเวทีเสวนา CBR Talk เรื่อง การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน “ทางเลือก ทางรอด” โดยนำเสนอ 4 พื้นที่กรณีศึกษาประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดน่าน ราชบุรี อุบลราชธานี และสตูล ที่นำงานวิจัยในท้องถิ่นมาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งตั้งแต่ระบบนิเวศต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชี้ให้เห็นภาพปัจจุบันของปัญหาน้ำมาก ในช่วงฝนตกหนักภายในระยะเวลาสั้น ๆและน้ำแล้ง จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate change) พร้อมเสนอแนะการจัดการน้ำชุมชน ใน 4 ภูมิภาค ควรขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สามารถขยายผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เผยมุมมองว่า ลักษณะการตกของฝนระยะหลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำโดยชุมชน ต้องเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เพื่อสร้างความมั่นคง และเกิดการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเกิดการกระจายรายได้ รู้คุณค่าทรัพยากร ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการเชิงรุกจากล่างขึ้นบนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การมี พรบ.ทรัพยากรน้ำจะช่วยองค์กรผู้ใช้น้ำในการจัดการน้ำชุมชนเพื่อมุ่งสู่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ดังนั้น ทั้ง 4 ภูมิภาค ควรขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 คือ 1. การจัดโครงสร้างพื้นฐาน 2. การสร้างกติกา และ 3. พัฒนาคน ร่วมกับ 1. สร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยี และ 2. จัดตั้งกองทุนในพื้นที่ตนเอง ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค คิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการจัดการน้ำและการสร้างอาชีพ จากตัวอย่างที่มี 30 ตำบลในงานวิจัยปีสอง จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หากขยับ 400 ตำบล ในปีถัดไป จะขยายผลได้ในวงกว้างและมีภาคีเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลไกระดับจังหวัด ดังในโครงการในแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง เมื่อทำงานวิจัยเสร็จสิ้นสรุปเป็นข้อเสนอแนะจากรูปธรรมในพื้นที่ ก็สามารถนำเสนอสู่ระดับนโยบายและรัฐบาล เพื่อให้ใช้ใขยายผลไปสู่ 80,000 หมู่บ้าน 8,000 ตำบล ของประเทศไทยได้ต่อไป
ขณะที่ คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ แห่งศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เสริมว่า การดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จะเชื่อมโยงการทำงานจากล่างขึ้นบนและจากบนลงล่าง จาก 4 กรณีศึกษา ที่มีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน เป็นการแก้ปัญหาแบบ “ตัดเสื้อให้พอดีตัว” จับมือกับนักวิชาการในการจัดการน้ำ เกิดการจัดทำแผนน้ำจากชุมชนนำไปสู่การจัดการน้ำอย่างทั่วถึง ความสำเร็จทั้ง 4 พื้นที่ มุ่งสู่การขยายผลระดับหมู่บ้านและตำบลได้ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำร่วมกัน มีกลไกการขับเคลื่อนงาน การติดอาวุธทางปัญญาทั้งความรู้จากชุมชนและความรู้จากนักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกส่วน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
พื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี คือ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอบ้านสำโรง ที่ประสบกับน้ำแล้ง ชาวบ้านได้ใช้ข้อมูลจากการทำงานวิจัย ผลักดันให้ชุมชนประหยัดน้ำ และคิดค้น “นวัตกรรมแอร์แวร์” ในการสูบน้ำขึ้นที่สูงเพื่อใช้แรงดันอากาศสูบน้ำเข้าถังและแจกจ่ายในครัวเรือน ประสานกับอุทยานผาแต้มเพื่อทำฝายปล่อยน้ำตามระบบกาลักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง และเพียงพอต่อการทำการเกษตร นอกจากนี้ที่ ตำบลบ้านกุดลาด และตำบลปทุม ที่ประสบกับน้ำท่วม อบต.ได้จับมือกันทำวิจัย ในการสื่อสารข้อมูลระดับน้ำให้กลุ่มผู้ประสบภัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาอุทกภัยและได้คิดค้น”นวัตกรรมชุดนอนนา”โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ฝีมือของชาวบ้าน เพื่อให้มีไฟส่องสว่าง และชาร์ตโทรศัพท์ได้ในช่วงประสบภัยพิบัติ
และในกรณีพื้นที่ ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์น้ำจากคลองดูสน-คลองมำบัง เพื่อการประปาและการเกษตร แต่เกิดปัญหา คนที่อยู่ริมคลองไม่ได้ใช้น้ำและช่วงฝนตกเกิดน้ำหลากจนท่วม ขาดการมองเห็นเชิงระบบ งานวิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และปรับเปลี่ยนชุดความคิด หรือ Mindset ใหม่ ให้ชุมชนใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น