วช.พาชม“เครื่องฟอกอากาศ”เมดอินไทยแลนด์! กำจัดเชื้อโรค ด้วยออกซิเจนบวก-ลบ



วันนี้(6 ก.พ. 2565) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานวันนักประดิษฐ์ 2564 -2565 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เป็นวันสุดท้าย หลังจากนำนวัตกรรมกว่า 1,000 ชิ้นมาจัดแสดงอย่างเต็มอิ่มกว่า 5 วัน หนึ่งในนั้น คือ นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก-ลบ (Bipolar Ionizer) ผลงานของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ มีประสิทธิภาพป้องกัน PM 2.5 และกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคในอากาศ

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า ด้วยปัญหามลภาวะทางอากาศ นักวิจัยจึงได้ประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีไบโพลาร์ ไอออนไนเซอร์ (Bipolar Ionizer Technology) จากต่างประเทศ ด้วยวิธีการผลิตไอออน ประจุบวก-ลบ ให้กระจายรอบพื้นที่ เพื่อดักจับและทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้ โดยไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างหรือสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยใช้เวลาพัฒนานานถึง 3 ปี จนประสบผลสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

คุณสมบัติเครื่องฟอกอากาศ ประกอบด้วยชั้นกรอง 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นแรกเป็นไส้กรองพลาสติกผสมกับอนุภาคนาโนซิลเวอร์ (มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อแบคทีเรีย) เพื่อดักจับฝุ่นละอองและเชื้อที่มีขนาดใหญ่ ชั้นที่สองเป็นไส้กรองทำด้วย Hepa Filter – H 13 มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน สามารถป้องกันละอองฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ทำหน้ากาก N-95 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และชั้นสุดท้ายเป็นเทคโนโลยีไบโพลาร์ ไอออนไนเซอร์ ซึ่งทำหน้าท่ีผลิตสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่รอบตัว เมื่อเปิดเครื่องฟอกอากาศจะเกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี กระตุ้นให้ออกซิเจนในอากาศแตกตัวไปเป็นขั้นบวกและลบ โดยออกซิเจนส่วนหนึ่งจะไปรวมตัวกับความชื้นของน้ำในอากาศแล้วเปลี่ยนเป็น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และรวมตัวกับไฮโดรเจนกลายเป็นไฮดร็อกซิล หรือแอลกอฮอล์ แต่จะอยู่ในสถานะก๊าซ ซึ่งในทางการแพทย์มีการใช้สารทั้งสองตัวนี้ในการล้างแผลและฆ่าเชื้อโรค

ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องฟอกอากาศ เพื่อสนับสนุนไปยังโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรคให้กับบุคลากรด่านหน้า เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลตากสิน เป็นต้น และมีการพัฒนารุ่นต่าง ๆ โดยฝีมือของเยาวชนในสมาคมฯ พัฒนาทั้งแบบเสียบกับช่องเครื่องปรับอาการเพื่อบำบัดอากาศในพื้นที่ 70 ตร.ม. แบบพกพาง กำจัดเชื้อโรคในรัศมี 1 เมตร และเครื่องบำบัดอากาศฆ่าเชื้อไวรัสแบบตั้งพื้น โดยตั้งเป้าจะพัฒนาต่อ ให้สามารถใช้งานได้ในโรงแรม รถยนต์ หรือเครื่องบิน รวมทั้งในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ และเกิดโอโซนในอากาศน้อยลง พร้อมสร้างความมั่นใจให้ประชาชนหันมาใช้กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ กำลังพัฒนาเครื่องตรวจวัดโควิด-19 จากลมหายใจ ให้แสดงผลผ่านหน้าจอได้ภายใน 1 นาที ได้ผลเทียบเท่ากับการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งจะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนชาวไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *