วช. ล่องใต้ดูผลสำเร็จงานวิจัยชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก พร้อมมอบถุงมือนวัตกรรมฆ่าเชื้อด้วยตัวเองแก่พื้นที่เสี่ยง จังหวัดสงขลา


ผู้บริหารสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เยี่ยมชมผลสำเร็จงานวิจัยโครงการต้นแบบการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาชุมชมและเศรษฐกิจฐานราก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ พร้อมมอบถุงมือนวัตกรรมจากยางพาราฆ่าเชื้อด้วยตัวเองช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด๑๙
เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา ให้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ และธนาคารไทยพาณิชย์สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ และคณะ ให้การต้อนรับ


วันนี้ (21 มีนาคม 2565) ที่จังหวัดสงขลา ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร วช. และคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการวิจัย การพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด๑๙ เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อำเภอสะเดา โครงการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพ และโครงการผลิตเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล ชนิดผงสำเร็จรูปจากสารสกัดข้าวกล้องสังข์หยดอินทรีย์ สำหรับผู้สูงวัย และวัยทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังการเยี่ยมชมผลงานวิจัย


ดร.วิภารัตน์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า วช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ โดยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถ่ายทอดเพื่อพัฒนา แก้ไขปัญหาท้าทายสังคม รวมถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเชื่อมโยงกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน หนุนระบบชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมและยกระดับให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและพื้นที่เป้าหมายดีขึ้น
สำหรับโครงการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด๑๙ ดำเนินโครงการโดย ผศ.นพ. วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดทำถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด๑๙ เพื่อส่งมอบให้ประชาชน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยและสามารถใช้งานได้จริง และลดปัญหายางพาราซึ่งมีราคาตกต่ำอีกทางหนึ่งด้วย มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยตนเอง ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์เคลือบสูตรน้ำยานาโนอิมัลชัน มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสอยู่ได้ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง มีความปลอดภัยในการใช้งาน ลดการปนเปื้อน และป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสลงได้เป็นอย่างดี


โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพ ทีมนักวิจัยจาก สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มอ. ได้นำองค์ความรู้จากการวิจัยมาผลิตสารสกัดมาตรฐานสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์ในการผลิตสารสกัดจากพืชกระท่อมให้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยสร้างโรงงานต้นแบบสกัดสารสมุนไพรพืชกระท่อม เป็นยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ รวมถึงพัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับเครื่องดื่มเข้มข้นจากสารสกัดใบพืชกระท่อม
รสกาแฟเพื่อส่งเสริมสุขภาพทำให้ร่างกายสดชื่น ตำรับผงแกรนูลจากสารสกัดใบพืชกระท่อมเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และตำรับครีมเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดข้อเข่า และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์สมุนไพรพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพ


โครงการการผลิตเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลชนิดผงสำเร็จรูปจากสารสกัดข้าวกล้องสังข์หยดอินทรีย์สำหรับผู้สูงวัยและวัยทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ข้าวสังข์หยดพัทลุงมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันยับยั้งการเกิดโรคจากความเสื่อมของเซลล์ ช่วยชะลอความชราและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ทีมนักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มอ. ได้นำข้าวสังข์หยดหักท่อนที่ผ่านมาตรฐานอินทรีย์และ GI มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นเพื่อสุขภาพ เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนอล ๒ สูตร คือ สูตรเสริมถั่ว ๕ สี ที่ช่วยบำรุงร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีนสูงเสริมความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อหัวใจ และ สูตรเสริมโพไบโอติค ที่ช่วยในการขับถ่ายที่ปลอดภัย เหมาะกับผู้สูงอายุและวัยทำงาน ซึ่งการแปรรูปข้าวจะมาช่วยแก้ปัญหาไม่มีผู้รับซื้อข้าวตกเกรด และเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสังข์หยดอินทรีย์ ที่สำคัญช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดอินทรีย์พัทลุงในชุมชนให้ดีขึ้น


โครงการวิจัยทั้ง ๓ โครงการได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในแผนงานการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการต้นแบบการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่จังหวัดสงขลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *